Sunday, February 7, 2016

Trachoma

ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในโรคริดสีดวงตา (trachoma)






ริดสีดวงตา (Trachoma) เป็นสาเหตุสูญเสียการมองเห็นจากการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุด(1)⁠  โดยมีเชื้อก่อโรคคือเชื้อ Chlamydia ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิด ไม่มีผนังเซลล์ และนอกเหนือจากโรคริดสีดวงตาแล้ว เชื้อ chlamydia ยังเป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียม และโรคปอดอักเสบชุมชนอีกด้วย

การดำเนินโรคของริดสีดวงตาประกอบด้วย 2 ระยะ ได้แก่

1. ระยะที่ 1 มักพบในเด็กและทารก มีอาการคือ ตาแดงเป็น ๆ หาย ๆ โดยขณะที่โรคกำเริบ จะมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดลือดในเปลือกตาบน และมีน้ำมูกน้ำตาไหล ซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นนานหลายเดือน โดยระยะนี้จะมีการติดต่อระหว่างเด็กและมารดา และระหว่างเด็กด้วยกัน ผ่านการสัมผัสของมือและตา รวมทั้งผ่านแมลงที่ตอมบริเวณตา

2. ระยะที่ 2 เกิดจากการติดเชื้อซ้ำๆ เป็นเวลาหลายปี ทำให้เกิดแผลเป็นที่เปลือกตาบน อันส่งผลให้เปลือกตามีการม้วนเข้า และขนตาเสียดสีกับกระจกตา ซึ่งทำให้เกิดแผลและการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งจะทำให้กระจกตาขุ่นและสูญเสียการมองเห็น

การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคริดสีดวงตา มีทั้งการให้ยาทาเฉพาะที่และยารับประทานซึ่งมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป  ยาทาเฉพาะที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่ผู้ป่วยมักมี compliance ไม่ดีและระดับยาต่ำบริเวณ nasopharynx ซึ่งเป็นอีกบริเวณที่มีเชื้ออาศัยอยู่

จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) พบการศึกษาที่มีรูปแบบหลากหลาย แต่พอจะสามารถสรุปได้ดังนี้

- การใช้ยาปฏิชีวนะมีประโยชน์ในการรักษา active trachoma เนื่องจากช่วยลดอาการของโรคที่ระยะเวลา 3 เดือน (pooled risk ratio = 0.78, 95% CI 0.69-0.89) และอาจช่วยลดการเกิดซ้ำของโรคที่ระยะเวลา 1 ปี (pooled risk ratio = 0.81, 95% CI 0.63-1.04)(1)⁠

- ยาปฏิชีวนะทั้งรูปแบบเฉพาะที่ (pool risk ratio = 0.82, 95% CI 0.72-0.92) และรูปแบบรับประทาน (pool risk ratio = 0.81, 95% CI 0.67-0.97) มีประโยชน์ในการรักษา trachoma(1)⁠

- การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ azithromycin ชนิดรับประทาน และ tetracyclin ทาเฉพาะที่พบว่าประสิทธิภาพของยาทั้งสองชนิดในการรักษาการติดเชื้อ C.trachomatis ไม่แตกต่างกัน (pooled risk ratio = 1.01, 95% CI 0.45-0.98)(1)⁠ แต่มีการศึกษาหนึ่งที่พบว่า เมื่อเปรียบเทียบการให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานและการให้ยาปฏิชีวนะชนิดทาเฉพาะที่โดยไม่มีกำกับการให้ยาแลัว ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานจะมีประสิทธิภาพดีกว่า(2)⁠

- จากการศึกษาทั้งหมด 10 การศึกษาที่มีการรายงานผลข้างเคียงของยา ซึ่งรวมเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 671 คนซึ่งได้รับยา azithromycin มีกลุ่มตัวอย่าง 96 คน รายงานผลข้างเคียง ซึ่งส่วนใหญ่ (72 คน) เป็นผลข้างเคียงด้านทางเดินอาหาร และไม่มีการรายงานถึง serious adverse event ในการศึกษาทั้งหมด(1)⁠

- จากการศึกษาในระดับชุมชน พบว่า อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุ 1-9 ปี ในชุมชนที่มีการรักษาริดสีดวงตาด้วย azithromycin ต่ำกว่าในชุมชนที่ไม่มีการรักษา (4.1 per 1000 person-years และ 8.3 per 1000 person-years ตามลำดับ)(1)⁠

ดังนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ว่าในรูปรับประทาน หรือรูปทาเฉพาะที่ มีประสิทธิภาพภาพในการรักษาริดสีดวงตา และขณะนี้องค์การอนามัยโลก ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับ mass antibiotic administration schedules ในการป้องกันและรักษาริดสีดวงตา­(4)⁠

1. Evans JR, Solomon AW. Antibiotics for trachoma. Cochrane database Syst Rev. England; 2011;(3):CD001860.
2. Bowman RJ, Sillah A, Van Dehn C, Goode VM, Muqit MM, Johnson GJ, et al. Operational comparison of single-dose azithromycin and topical tetracycline for trachoma. Invest Ophthalmol Vis Sci. UNITED STATES; 2000 Dec;41(13):4074–9.
3. Luo H, Cheng J, Han J-S, Wan Y. Change of vanilloid receptor 1 expression in dorsal root ganglion and spinal dorsal horn during inflammatory nociception induced by complete Freund’s adjuvant in rats. Neuroreport [Internet]. 2004 Mar 22 [cited 2015 Mar 10];15(4):655–8. Available from: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15094470
4. Harding-Esch EM, Sillah A, Edwards T, Burr SE, Hart JD, Joof H, et al. Mass treatment with azithromycin for trachoma: when is one round enough? Results  from the PRET Trial in the Gambia. PLoS Negl Trop Dis. United States; 2013;7(6):e2115.

No comments:

Post a Comment