Wednesday, February 24, 2016

Tranexamic acid

Tranexamic acid กับการรักษาฝ้า (melasma)






ฝ้า (Melasma) คือ ผื่นน้ำตาลราบที่มักพบกระจายบนใบหน้าอย่างสมมาตร โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  กลไกการเกิดฝ้ายังไม่อาจสรุปได้ชัดเจน แต่พันธุกรรม รังสีเหนือม่วง และฮอร์โมนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ดังนั้น การป้องกันแสงแดดจึงเป็นส่วนสำคัญทั้งในการป้องกันและรักษาฝ้า(1)⁠

ยารักษาฝ้าในปัจจุบัน ประกอบด้วย hydroquinone, tretinoin cream, azelaic acid, rucinol และ kojic adic โดยสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ยาทาซึ่งประกอบด้วย hydroquinone, tretinoin และ weak topical corticoid(1,2)⁠

นอกจากยาแล้ว chemical peel และ laser therapy ยังนำมาใช้ในการรักษาฝ้า แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้ผิวคล้ำมากขึ้นได้(1)⁠

เนื่องจากฝ้าบางชนิด โดยเฉพาะฝ้าลึก (dermal hyperpigmentation) ตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดี จึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการศึกษายาชนิดใหม่ๆ เพื่อใช้รักษาฝ้า(1)⁠

Tranexamic acid เป็นสารที่ยับยั้ง plasminogen activator และใช้ในการลดการสลายลิ่มเลือดผิดปกติซึ่งนำไปสู่การเสียเลือด  เนื่องจากมีการศึกษาที่พบว่า เซลล์ผิวหนังของคนมีการผลิต plasminogen activator ซึ่งจะถูกกระตุ้นด้วยรังสีเหนือม่วง และนำไปสู่การสร้างสารสี ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ tranexamic acid จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเกิดฝ้า(2)⁠

การศึกษาผลของการฉีด tranexamic acid ใต้ผิวหนูตะเภา พบว่า ไม่มีผลต่อจำนวนเซลล์เม็ดสี (melanocyte) ของหนู แต่ระดับของสารสี melanin ในหนูที่ฉีดยามีระดับต่ำกว่าหนูที่ไม่ได้ฉีดยาอย่างมีนัยสำคัญ(3)⁠

การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นและจีนพบว่า การรับประทาน tranexamic acid ช่วยลดความรุนแรงของฝ้าได้ แต่พบว่าฝ้ามีการขึ้นใหม่หลังหยุดยา โดยการเพิ่มระยะเวลาของการรักษาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษามากกว่าการเพิ่มขนาดยา (2,4)⁠

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของ tranexamic acid คือ อาการทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 5 และจากการสุ่มตรวจการแข็งตัวของเลือดในผู้ป่วย ยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ(2)⁠

การศึกษาประสิทธิภาพของ tranexamic acid ในการรักษาฝ้าแบบ controlled trial ครั้งแรกทำขึ้นในปี 2011 โดยใช้ tranexamic acid รับประทานขนาด 500 มิลลิกรัมต่อวันเป็นการรักษาเสริมจาการรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ โดยพบว่าช่วยให้ฝ้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และไม่พบว่าผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย(5)⁠

ดังนั้น ขนาดของ tranexamic acid ชนิดรับประทานที่ใช้สำหรับรักษาฝ้า คือ ครั้งละ 250 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งขนาดยานี้เป็นขนาดที่น้อยกว่าขนาดยาสำหรับลดเลือดออก(2)⁠

สำหรับรูปแบบอื่นๆ ของ tranexamic acid มีรายงานถึงประสิทธิภาพของการฉีดเข้าใต้ผิวหนังl(6)⁠ ในขณะที่ข้อมูลของประสิทธิภาพของยาชนิดทายังขัดแย้งกัน(7,8)⁠  ไม่มีข้อมูลถึงประสิทธิภาพของการฉีดเข้าหลอดเลือด

การใช้ tranexamic acid ในการรักษาฝ้ามีอัตราการเกิดผลข้างเคียงที่ต่ำ และยังไม่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดที่ได้รับการยืนยัน แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำไม่ให้ใช้ tranexemic acid ใน สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด และผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น aspirin, clopidogrel(2)

1. Lapeere H, Boone B, Schepper S De, Verhaeghe E, Geel M Van, Ongenae K, et al. Chapter 75. Hypomelanoses and Hypermelanoses. In: Goldsmith LA, Katz SI, Gilchrest BA, Paller AS, Leffell DJ, Wolff K, editors. Fitzpatrick’s Dermatology in General Medicine, 8e [Internet]. New York, NY: The McGraw-Hill Companies; 2012. Available from: http://mhmedical.com/content.aspx?aid=56043626
2. Tse TW, Hui E. Tranexamic acid: an important adjuvant in the treatment of melasma. J Cosmet Dermatol. Wiley Online Library; 2013;12(1):57–66.
3. Li D, Shi Y, Li M, Liu J, Feng X. Tranexamic acid can treat ultraviolet radiation-induced pigmentation in guinea pigs. Eur J Dermatology. 2010;20(3):289–92.
4. Higashi N. Treatment of melasma with oral tranexamic acid. Ski Res. 1988;30:676–80.
5. Cho HH, Choi M, Cho S, Lee JH. Role of oral tranexamic acid in melasma patients treated with IPL and low fluence QS Nd: YAG laser. J Dermatolog Treat. Taylor & Francis; 2013;24(4):292–6.
6. Lee JH, Park JG, Lim SH, Kim JY, Ahn KY, KIM M, et al. Localized intradermal microinjection of tranexamic acid for treatment of melasma in Asian patients: a preliminary clinical trial. Dermatologic Surg. Wiley Online Library; 2006;32(5):626–31.
7. Kondou S, Okada Y, Tomita Y. Clinical study of effect of tranexamic acid emulsion on melasma and freckles. Ski Res. NIHON HIFUKA GAKKAI OSAKA CHIHOKAI; 2007;6(3):309.
8. Kanechorn Na Ayuthaya P, Niumphradit N, Manosroi A, Nakakes A. Topical 5% tranexamic acid for the treatment of melasma in Asians: a double-blind randomized controlled clinical trial. J Cosmet Laser Ther. Taylor & Francis; 2012;14(3):150–4.

No comments:

Post a Comment