Sunday, November 29, 2020

 

Domperidone กับการใช้เป็นยากระตุ้นการหลั่งน้ำนม

พญ.ศิวภรณ์ มโนมัยสันติภาพ

อ.ดร.พญ.วรรณรัศมี เกตุชาติ

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Domperidone เป็นยากลุ่ม dopamine antagonists มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (prokinetic effect) ได้รับอนุมัติข้อบ่งชี้ในประเทศไทยสำหรับรักษากลุ่มอาการอาหารไม่ย่อย (dyspeptic symptom complex) ซึ่งสาเหตุเกี่ยวข้องกับภาวะที่มีการบีบตัวที่ผิดปกติของทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการแน่นท้อง อิ่มเร็ว คลื่นไส้อาเจียน แสบร้อนกลางอก

นอกจากนี้มีการใช้ domperidone กระตุ้นน้ำนมในสตรีหลังคลอดบุตร จากคุณสมบัติของ Domperidone ที่เป็น antidopaminergic drugs มีผลเพิ่มการหลั่ง prolactin ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นการหลั่งน้ำนม แม้ว่าจะไม่ได้รับอนุมัติข้อบ่งชี้ให้ใช้ domperidone สำหรับกระตุ้นน้ำนมก็ยังคงมีการใช้ยานี้แบบนอกข้อบ่งชี้ (off-label) ในหลายประเทศ

ทั้ง U.S. FDA และ The Pharmacovigilance Risk Assessment Committee (PRAC) ของทางยุโรป ได้มีการเฝ้าระวังและออกประกาศเตือนผลข้างเคียงจากยา domperidone ว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจ ได้แก่ ภาวะ QT prolongation, torsade de pointes และ sudden cardiac death แม้ว่ารายงานความเสี่ยงส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 70 ปี แต่ก็มีรายงานว่าพบ QT prolongation และหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นในผู้หญิงอายุน้อย ที่ได้รับ Domperidone เพื่อกระตุ้นน้ำนมด้วย สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการห้ามใช้และห้ามนำเข้ายา Domperidone ในทุกข้อบ่งชี้

คุณสมบัติทางเภสัชจลศาสตร์ของ Domperidone ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ ยาจะไปยับยั้ง potassium channels ของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ความคงตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสามารถนำไปสู่การเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยโอกาสในการเกิดนี้อาจขึ้นกับระดับยาในเลือด นอกจากนี้ยา Domperidone ยังถูกร่างกายกำจัดผ่านทางเอนไซม์ CYP3A4 จึงอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาหลายชนิดที่มีคุณสมบัติยับยั้ง CYP3A4 ทำให้ระดับยา Domperidone สูงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

จากการศึกษาประสิทธิภาพในการกระตุ้นน้ำนมและความปลอดภัยของ Domperidone ได้ผลว่า Domperidone สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมในหญิงหลังคลอดที่มีน้ำนมไม่เพียงพอได้มากกว่าในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อเทียบกับยาหลอก อีกการศึกษาพบว่า Domperidone สามารถเพิ่มการหลั่งน้ำนมได้ แต่การใช้ยาติดต่อกันมากกว่า 7 วันไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยา Domperidone อยู่ในรูปเม็ดยา(Tablet) ขนาด 10 mg ขนาดยาที่ใช้ต่อวันคือ 30 mg หรือเท่ากับ 10 mg วันละ 3 เวลา ในการศึกษาวิจัยเพื่อหาระดับยาทำให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ มีการศึกษาขนาดยาตั้งแต่ 10-80 mg/วัน แต่ก็ไม่สามารถระบุขนาดยาที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด QT prolongation หรือ arrythmia ในคนทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัวได้

ดังนั้น จากการศึกษาพบว่า Domperidone อาจมีบทบาทในการกระตุ้นน้ำนมในหญิงหลังคลอดที่มีน้ำนมไม่เพียงพอในระยะเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ตามไม่ควรพิจารณาการใช้ยา Domperidone เพื่อกระตุ้นน้ำนมเป็นการรักษาหลัก การใช้ยา domperidone เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนมควรให้แพทย์พิจารณาใช้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากมีรายงานความเสี่ยงที่พบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและเสียชีวิตได้แม้ในผู้หญิงอายุน้อย การกระตุ้นน้ำนมในหญิงหลังคลอดที่น้ำนมไม่เพียงพอควรประเมินสาเหตุและให้คำแนะนำเรื่องการกระตุ้นน้ำนมด้วยวิธีอื่น ๆ ให้แก่มารดาเพื่อให้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องและมีปริมาณน้ำนมในระยะยาวมากกว่าการพิจารณาใช้ยาช่วยเพิ่มน้ำนม และที่สำคัญที่สุดควรให้คำแนะนำหญิงหลังคลอดที่ไม่สามารถให้นมบุตรหรือมีน้ำนมไม่เพียงพอว่าไม่ใช่ความผิดร้ายแรงและมีทางเลือกในการให้นมอื่น ๆ เนื่องจากพบภาวะซึมเศร้าในหญิงกลุ่มนี้ได้ และส่งผลต่างร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก


Reference

1.       Grzeskowiak LE, Smithers LG, Amir LH, Grivell RM. Domperidone for increasing breast milk volume in mothers expressing breast milk for their preterm infants: a systematic review and meta-analysis. BJOG. 2018 Oct;125(11):1371-1378. doi: 10.1111/1471-0528.15177. Epub 2018 Mar 27. PMID: 29469929.

2.       Domperidone 10mg Tablets - Summary of Product Characteristics (SmPC) - (emc) [Internet]. Medicines.org.uk. 2020 [cited 10 November 2020]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/product/556/smpc#gref

3.        PRAC recommends restricting use of domperidone - European Medicines Agency. European Medicines Agency. 2020

4.       Paul, C. et al. (2015) ‘Use of Domperidone as aDrugs and Lactation Database (LactMed). Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); 2006-. Domperidone. [Updated 2020 Oct 19].

5.        Galactagogue Drug: A Systematic Review of the Benefit-Risk Ratio’, Journal of Human Lactation, 31(1), pp. 57–63. doi: 10.1177/0890334414561265.

6.       Sewell CA, Chang CY, Chehab MM, Nguyen CP. Domperidone for Lactation: What Health Care Providers Need to Know. Obstet Gynecol. 2017 Jun;129(6):1054-1058. doi: 10.1097/AOG.0000000000002033. PMID: 28486375.

7.       Domperidone: anti-sickness medicine used to treat nausea and vomiting [Internet]. nhs.uk. 2020 [cited 10 November 2020]. Available from: https://www.nhs.uk/medicines/domperidone/

No comments:

Post a Comment