Tuesday, December 15, 2020

ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดสำหรับประชาชน

นพ.สุรชัย เล็กสุวรรณกุล
ผศ.ดร.ปิยนุช วงศ์อนันต์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการได้รับยาเคมีบำบัด และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ขาดสารน้ำและแร่ธาตุในร่างกายผิดปกติ ภาวะทุพโภชนาการ ตลอดจนการใช้ทรัพยากรในการดูแลรักษาที่มากขึ้น โดยภาวะคลื่นไส้อาเจียนอาจเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลัน เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับยาและแบบเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งมักจะเกิดหลังจากได้รับยาไปแล้ว 1 วัน นอกจากนี้ยังมีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่เกิดจากการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการได้แม้จะยังไม่ได้รับยาเคมีบำบัดในรอบนั้นก็ตาม เพราะเกิดจากการจดจำสิ่งแวดล้อมขณะให้ยา ซึ่งสิ่งสิ่งแวดล้อมกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดได้มากขึ้น

1.       อายุ โดยผู้ที่มีอายุน้อยกว่าจะคลื่นไส้อาเจียนได้มากกว่า

2.       เพศ โดยเพศหญิงจะคลื่นไส้อาเจียนได้มากกว่าเพศชาย

3.       ประวัติการเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียน โดยหากเกิดภาวะดังกล่าวจากยาเคมีบำบัดมาก่อน จะทำให้มีโอกาสเกิดได้มากกว่า

4.       ประวัติการแพ้ท้อง โดยหากเคยเกิดภาวะอาเจียนขณะตั้งครรภ์มาก่อน จะทำให้มีความเสี่ยงที่มากกว่า

5.   ชนิดของยาเคมีบำบัดที่ใช้ โดยชนิดของยาในแต่ละสูตรในการรักษาโรคมะเร็ง มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนได้แตกต่างกันตามชนิดของยา

อย่างไรก็ตามจากความก้าวหน้าในการพัฒนายาต้านอาการคลื่นไส้อาเจียน ส่งผลให้ยาต้านอาการคลื่นไส้อาเจียนที่มีใช้ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยแพทย์ผู้รักษาจะดำเนินการให้ยาต้านอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมอาการดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม และหากผู้ป่วยยังคงมีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดแม้จะได้รับการป้องกันอย่างเหมาะสมแล้ว แพทย์สามารถพิจารณาให้ยาต้านคลื่นไส้อาเจียนเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยแต่ละรายเป็นกรณีไป

คำแนะนำในการปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วย

1.      ควรพูดคุยปรึกษาแพทย์ที่ดูแลการรักษา ถึงแผนการรักษา ยาเคมีบำบัดที่ใช้ ตลอดจนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้และระหว่างการรักษาหากมีอาการที่ผิดปกติ สามารถปรึกษาแพทย์ที่ให้การดูแล เพื่อให้ได้รับการรักษาและป้องกันอย่างเหมาะสม

2.        ควรทานอาหารมื้อเล็กๆ ระหว่างวัน และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เช่น อาหารที่มีกลิ่นแรง

3.        ดื่มน้ำมากๆ รวมไปถึงอาจพิจารณาดื่มน้ำขิง ซึ่งสามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้

4.     อาจพิจารณาใช้การแพทย์ทางเลือกควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การฝึกหายใจ ดนตรีบำบัด การฝังเข็ม เพื่อคลายกังวล

เอกสารอ้างอิง

1.          Hsieh RK, Chan A, Kim HK, Yu S, Kim JG, Lee MA, et al. Baseline patient characteristics, incidence of CINV, and physician perception of CINV incidence following moderately and highly emetogenic chemotherapy in Asia Pacific countries. Support Care Cancer. 2015;23(1):263-72.

2.          Koth SM, Kolesar J. New options and controversies in the management of chemotherapy-induced nausea and vomiting. Am J Health Syst Pharm. 2017;74(11):812-9.

3.          Hilarius DL, Kloeg PH, van der Wall E, van den Heuvel JJ, Gundy CM, Aaronson NK. Chemotherapy-induced nausea and vomiting in daily clinical practice: a community hospital-based study. Support Care Cancer. 2012;20(1):107-17.

4.          Haiderali A, Menditto L, Good M, Teitelbaum A, Wegner J. Impact on daily functioning and indirect/direct costs associated with chemotherapy-induced nausea and vomiting (CINV) in a U.S. population. Support Care Cancer. 2011;19(6):843-51.

5.          Ballatori E, Roila F, Ruggeri B, Porrozzi S, Iannopollo M, Soru G, et al. The cost of chemotherapy-induced nausea and vomiting in Italy. Support Care Cancer. 2007;15(1):31-8.

6.          Laszlo J. Nausea and vomiting as major complications of cancer chemotherapy. Drugs. 1983;25 Suppl 1:1-7.

7.          Adel N. Overview of chemotherapy-induced nausea and vomiting and evidence-based therapies. Am J Manag Care. 2017;23(14 Suppl):S259-s65.

8.          Shankar A, Roy S, Malik A, Julka PK, Rath GK. Prevention of Chemotherapy-Induced Nausea and Vomiting in Cancer Patients. Asian Pac J Cancer Prev. 2015;16(15):6207-13.

9.          Dranitsaris G, Molassiotis A, Clemons M, Roeland E, Schwartzberg L, Dielenseger P, et al. The development of a prediction tool to identify cancer patients at high risk for chemotherapy-induced nausea and vomiting. Ann Oncol. 2017;28(6):1260-7.

10.        Molassiotis A, Aapro M, Dicato M, Gascon P, Novoa SA, Isambert N, et al. Evaluation of risk factors predicting chemotherapy-related nausea and vomiting: results from a European prospective observational study. J Pain Symptom Manage. 2014;47(5):839-48.e4.

11.        Mosa ASM, Hossain AM, Lavoie BJ, Yoo I. Patient-Related Risk Factors for Chemotherapy-Induced Nausea and Vomiting: A Systematic Review. Front Pharmacol. 2020;11:329.

12.        Roila F, Molassiotis A, Herrstedt J, Aapro M, Gralla RJ, Bruera E, et al. 2016 MASCC and ESMO guideline update for the prevention of chemotherapy- and radiotherapy-induced nausea and vomiting and of nausea and vomiting in advanced cancer patients. Ann Oncol. 2016;27(suppl 5):v119-v33.

13.        National Comprehensive Cancer Network. Antiemesis (Version 1.2016)  [updated 2016; cited 2020 September 25]. Available from: https://www.nccn.org/patients/guidelines/content/PDF/nausea-patient.pdf.


No comments:

Post a Comment