Monday, December 13, 2021

ยาปลูกผม Minoxidil ชนิดทาภายนอก

 

ยาปลูกผม Minoxidil ชนิดทาภายนอก

พญ.ศิวภรณ์ มโนมัยสันติภาพ

รศ.ดร.พญ.วรรณรัศมี เกตุชาติ

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 Minoxidil ได้ถูกผลิตเพื่อใช้เป็นยาลดความดันโลหิตที่มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด โดยยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงที่เห็นอย่างชัดเจนคือ ทำให้เกิดผมงอกใหม่และขนตามตัวเยอะขึ้นในผู้ป่วยศีรษะล้านที่ได้รับยาชนิดนี้ จึงมีการนำยา Minoxidil มาพัฒนาเป็นรูปแบบยาทาภายนอก เพื่อรักษาผมบางแบบพันธุกรรมในเพศชาย (androgenetic alopecia) และจากนั้นจึงมีการนำมาใช้กับผมร่วงในผู้หญิง (female pattern hair loss) เช่นกัน โดยใช้ยา minoxidil ชนิดทาภายนอกระดับความเข้มข้นของสายละลายที่ 2% หรือ 5% เพื่อรักษาโรคผมร่วง โดยการใช้ยานี้เป็นที่ยอมรับโดยแพร่หลายทั่วโลกมากว่า 30 ปี

 

เภสัชวิทยาของ minoxidil ชนิดทาภายนอก

มี 2 แบบ คือรูปแบบสารละลาย และแบบโฟม

สารละลาย minoxidil ประกอบด้วย ตัวยา minoxidil และสารประกอบเสริมชนิดอื่น ๆ ได้แก่ น้ำ เอทานอล และ
โพรพีลีน ไกลคอล (
propylene glycol; PG) ซึ่ง PG ทำหน้าที่ช่วยให้ minoxidil ละลายได้ดีขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งตัวยไปยังรูขุมขน แต่สาร PG นี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ จึงมีการพัฒนาโฟม minoxidil ชนิดไม่มีสาร PG (PG-free minoxidil foam; MF) เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างสารละลายชนิดน้ำและแบบโฟม พบว่ารูปแบบโฟมสามารถนำส่งตัวยา minoxidil ไปยังรูขุมขนได้ดีและระคายเคืองน้อยกว่า ยา minoxidil ชนิดทาภายนอกทั้งสองรูปแบบได้รับการรับรองจาก FDA ให้ใช้ในการรักษาผมบางแบบพันธุกรรมในเพศชาย (androgenetic alopecia) และผมร่วงในผู้หญิง (female pattern hair loss)

ฤทธิ์ในการทำให้เกิดขนงอกของตัวยา minoxidil เกิดจากสาร minoxidil sulfate ที่ทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ sulfotransferase ภายในรูขุมขน ทำให้เกิดปฏิกิริยาการงอกของเส้นขน โดยมีการศึกษาพบว่าหากใช้ยา aspirin หรือ salicylate ซึ่งมีฤทธิ์ลดการทำงานของเอนไซม์ sulfotransferase จะลดประสิทธิภาพของตัวยา minoxidil ลง

นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายซึ่งมีระดับการทำงานของเอนไซม์ sulfotransferase ค่อนข้างน้อย จึงเป็นกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยา minoxidil แล้วไม่ได้ผล (non-responder) จึงมีการคิดค้นสารชนิดใหม่ คือ minoxidil sulfate-based solution(MXS) ซึ่งเป็น active metabolite ของ minoxidil พบว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่า minoxidil แบบเดิม รวมถึงออกฤทธิ์ได้ผลดีโดยเฉพาะกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อยา minoxidil เนื่องจากขาดเอนไซม์ แต่เนื่องจากตัวยา MXS นั้นคงสภาพไม่ดี สลายง่าย ยังมีความยากในการผลิตและจัดเก็บ จึงจำเป็นต้องใช้สารในปริมาณสูงเพื่อให้ออกฤทธิ์ได้ผลดี

ปริมาณตัวยา minoxidil ที่ทาบนผิวหนัง มีเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้นที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทั้งนี้ขึ้นกับระดับความเข้มข้นของสาร ความถี่ในการทา รวมถึงการที่ชั้นผิวหนังถูกทำลาย จะเพิ่มโอกาสในการดูดซึมตัวยา แต่ยาชนิดนี้ไม่จับกับโปรตีนในเลือด และขับออกทางไตเกือบทั้งหมดภายใน 4 วัน

 

ข้อบ่งชี้ในการใช้ minoxidil ชนิดทาภายนอก เพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นผม

ข้อบ่งชี้ที่ได้รับรองจาก FDA

1.       ผมบางแบบพันธุกรรมในเพศชาย (androgenetic alopecia)

2.       ผมบางแบบพันธุกรรมในเพศหญิง (female pattern hair loss)

ข้อบ่งชี้ที่ไม่ได้การรับรอง แต่มีที่ใช้แบบ Off-label use

1.       โรคผมร่วงชนิดต่าง ๆ ได้แก่ Alopecia areata, Central centrifugal cicatricial alopecia, Frontal fibrosing alopecia, Monilethrix, Loose anagen hair syndrome และ Telogen effluvium

2.       การใช้ในทางความงาม เช่น ปลูกหนวดและเครา คิ้ว

3.       รักษาอาการผมร่วงจากยาเคมีบำบัด

คำแนะนำในการใช้

ใช้สารละลายความเข้มข้น 2% หรือ 5% ปริมาณ 1 mL ทาบริเวณที่เป็น วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง

Minoxidil สามารถเร่งการงอกของเส้นผม และลดการเกิดผมร่วง จะเห็นผลชัดเจนที่ 3-4 เดือน โดยฤทธิ์ดังกล่าวจะยังคงอยู่หลังหยุดยา 12 ถึง 24 สัปดาห์ จากนั้นเส้นผมหรือขนในบริเวณดังกล่าวจะค่อยๆ หลุดร่วงตามเดิม

 

ผลข้างเคียงของ minoxidil ชนิดทาภายนอก

-         ระคายเคือง และอาจเกิดเป็นผิวหนังอักเสบ อาจเกิดจากสาร PG ที่ผสมในสารละลาย minoxidil หรือสำหรับบางรายอาจเกิดอาการแพ้ตัวยา minoxidil หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการทดสอบสารที่แพ้ด้วย patch test หากเป็นการแพ้สาร PG สามารถเปลี่ยนไปใช้ชนิด non-PG minoxidil foam ได้ แต่ถ้าแพ้ตัวยา minoxidil ก็จะมีความจำเป็นต้องหยุดใช้ยาชนิดนี้และเลือกใช้ยารักษาภาวะผมร่วงชนิดอื่น ๆ

-         ขนงอกมากเกินไป (hypertrichosis) ผลข้างเคียงชนิดนี้ขึ้นกับความเข้มข้นและปริมาณของตัวยา minoxidil พบได้บ่อยในสารละลายความเข้มข้น 5% หรือการทาสารละลายมากเกินไป ทำให้เกิดการดูดซึมทางผิวหนังและตัวยา minoxidil ไปออกฤทธิ์กับเส้นขนบริเวณอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงที่ไม่น่าพึงพอใจโดยเฉพาะในเพศหญิง จึงอาจเลือกใช้เป็นความเข้มข้น 2% เพื่อลดผลข้างเคียงชนิดนี้ นอกจากนี้ในผู้หญิงชาวเอเชีย อาจเลือกใช้เป็นความเข้มข้น 1% เพื่อลดผลข้างเคียงแต่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันแล้วว่ายังคงมีประสิทธิภาพในการรักษาผมร่วงได้

-         ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ พบได้น้อย แต่อาจพบได้หากมีการใช้ยาในปริมาณสูงหรือทาบ่อยเกินไป เนื่องจากยาสามารถดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ และตัวยา minoxidil มีฤทธิ์เป็นยาลดความดันโลหิตโดยการขยายหลอดเลือด

 

Reference

·      Suchonwanit P, Thammarucha S, Leerunyakul K. Minoxidil and its use in hair disorders: a review [published correction appears in Drug Des Devel Ther. 2020 Feb 10;14:575]. Drug Des Devel Ther. 2019;13:2777-2786. Published 2019 Aug 9. doi:10.2147/DDDT.S214907

·      Rumsfield JA, West DP, Fiedler-Weiss VC. Topical minoxidil therapy for hair regrowth. Clin Pharm. 1987 May;6(5):386-92. PMID: 3311578.

·      Olsen EA, Dunlap FE, Funicella T, et al. A randomized clinical trial of 5% topical minoxidil versus 2% topical minoxidil and placebo in the treatment of androgenetic alopecia in men. J Am Acad Dermatol. 2002;47(3):377-385. doi:10.1067/mjd.2002.124088

No comments:

Post a Comment