ไม่ควรใช้ยากลุ่ม ACEI และ ARB ร่วมกัน เพราะว่าไม่เพิ่มประโยชน์ในทุกแง่มุม และยังก่อให้เกิดโทษอีกด้วย
พญ.กนกกาญจน์ ชูพิศาลยโรจน์
รศ.สุพีชา วิทยเลิศปัญญา
ภาควิชาเภสัชวิทยา
อ.นพ.จักรพันธ์ ชัยพรหมประสิทธิ์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำแนะนำ
- ไม่ควรใช้ยากลุ่ม ACEI และ ARB ร่วมกัน เพราะว่าไม่เพิ่มประโยชน์ในทุกแง่มุม และยังก่อให้เกิดโทษอีกด้วย
รายละเอียด
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้มากและมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการในการปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงนั้นประกอบด้วยหลายวิธี อาทิ การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร เป็นต้น แต่หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล การใช้ยาลดความดันโลหิตสูงก็จะมีบทบาทมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ยานั้นไม่ได้มีแต่ประโยชน์เสมอไป ผู้ป่วยที่ได้รับยาลดความดันจึงควรระมัดระวังการใช้ยา และรู้ถึงอันตรายจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องด้วย
ยากลุ่ม Angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACEI) ได้แก่ยา Enalapril, Captopril, Ramipril เป็นต้นและ Angiotensin II receptor antagonists (ARB)ได้แก่ยา Losartan, Valsartan, Telmisartan, Irbesartan, Candesartanเป็นต้นเป็นยาลดความดันที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง renin-angiotensin system เหมือนกัน โดย ACEI ยับยั้งที่ angiotensin-converting enzyme ส่วน ARB ยับยั้งที่ angiotensin II receptor
จากยาทั้งสองออกฤทธิ์คล้ายกันจึงมีผลข้างเคียงต่างๆเหมือนกัน ได้แก่
- ความดันโลหิตต่ำ
- โพแทสเซียมในเลือดสูง
- ไตวาย
ยกเว้น ARBไม่มีผลข้างเคียงเรื่องไอแห้งๆเหมือน ACEI เพราะ ARBไม่มีผลต่อระดับ bradykinin
งานวิจัยหนึ่งได้ข้อสรุปว่า การให้ยา ACEI ร่วมกับ ARB ไม่ได้มีประโยชน์เพิ่มขึ้นในแง่ของการป้องกันการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ทางตรงกันข้าม การให้ยา2กลุ่มนี้ร่วมกันกลับทำให้ผลข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะโพแทสเซียมในกระแสเลือดสูงขึ้น ไตวาย ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืดและท้องเสีย จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้[1][2]
นอกเหนือไปจากการเป็นยาลดความดันแล้ว ACEI & ARB ยังเป็นยาที่มีข้อบ่งชี้ไนการใช้อื่นๆอีก ได้แก่ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะไตเสื่อมจากเบาหวาน ใช้ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
เนื่องด้วยบทบาทในการช่วยลดโปรตีนรั่วในปัสสาวะในผู้ป่วยไตเสื่อม จึงมีงานวิจัยที่พยายามพิสูจน์โดยการใช้ยา2ชนิดนี้ร่วมกันเพื่อลดภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะในผู้ป่วยไตเสื่อมจากโรคเบาหวาน แต่งานวิจัยได้ถูกระงับไป เพราะมีความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่ออาสาสมัครจากผลข้างเคียงที่เพิ่มมากขึ้นในการใช้ยา 2 ชนิดร่วมกัน[3]
European Medicines Agency (EMA) ได้มีคำแนะนำว่าไม่ควรใช้ยา ACE inhibitor ร่วมกับ ARB อย่างพร่ำเพรื่อ หากจำเป็นต้องใช้จริงๆควรใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และทำการตรวจติดตามการทำงานของไต ระดับโพแทสเซียมในเลือดและความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด
คำแนะนำ คนที่ได้รับยาลดความดันโลหิตสูงหลายตัวร่วมกัน ควรดูฉลากยา ชื่อยา เฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยา ปรึกษาแพทย์ว่ายาเหล่านั้นเป็นยาที่ออกฤทธิ์ซ้ำซ้อนกันหรือไม่
อ้างอิง
- Yusuf S, Teo KK, Pogue J, et al. Telmisartan, ramipril, or both in patients at high risk for vascular events: The Ongoing Telmisartan Alone and in Combination with Ramipril Global Endpoint Trial (ONTARGET). N Engl J Med 2008;358:1547-59.
- Mann JFE, Schmieder RE, McQueen M, et al. Renal outcomes with telmisartan, ramipril, or both in people at high vascular risk (the ONTARGET study): a multicentre, randomized, double-blind controlled trial. Lancet 2008;372:547-53.
- Fried LF, Emanuele N, Zhang JH, et al. Combined angiotensin inhibition for treatment of diabetic nephropathy: N Engl J Med. 2013 Nov 14;369(20):1892-903.
- European Medicines Agency. PRAC recommends against combined use of medicines affecting the renin-angiotensin (RAS) system. April 11, 2014, EMA/196502/2014
No comments:
Post a Comment