ควรระมัดระวังในการใช้ยา omeprazole ร่วมกับ clopidogrel
อ.ดร.ปิยนุช วงศ์อนันต์
ภาควิชาเภสัชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การใช้ยาในการรักษาโรคในผู้ป่วยแต่ละรายแม้ว่าจะเป็นยาชนิดเดียวกันและขนาดเดียวกันอาจให้ผลในการรักษาแตกต่างกันไป โดยขนาดของยาที่ใช้ให้ผลในการรักษากับผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่ให้ผลในการรักษากับผู้ป่วยบางคนหรืออาจส่งผลให้เกิดพิษในผู้ป่วยบางคน ทั้งนี้ความแตกต่างในการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ พยาธิสภาพที่มีผลต่อการทำงานของตับและไต สิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย เช่น การสูบบุหรี่ อาหารที่รับประทานร่วมกับยา รวมถึงปัจจัยทางด้านพันธุกรรม เภสัชพันธุศาสตร์ (pharmacogenetics) คือการศึกษาถึงอิทธิพลของพันธุกรรมต่อการตอบสนองของยาที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ซึ่งจากการศึกษาพบว่าความผิดแผกของยีน (genetic polymorphism) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล
Omeprazole เป็นยาลดการหลั่งกรดที่อยู่ในกลุ่ม proton pump inhibitor ที่ใช้เป็นตัวเลือกอันดับที่ 1 ในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก อาการกรดไหลย้อน และภาวะที่มีการหลั่งของกรดมาก เช่น Zollinger-Ellison syndrome นอกจากนี้ยังใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค peptic ulcer ที่เกิดจากเชื้อ Helicobacter pylori และยังใช้ในการป้องกันการเกิด peptic ulcer ที่เกิดจากการใช้ยา nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ในผู้ป่วยรายที่ต้องรับประทานยา NSAIDs อย่างต่อเนื่อง
Omeprazole ถูกทำลายโดยเอนไซม์ cytochrome P450 2C19 (CYP2C19) ในตับแล้วถูกขับออกจากร่างกาย จากการศึกษาที่ผ่านมาพบความหลากหลายของยีนที่สร้างเอนไซม์ CYP2C19 ทำให้ความสามารถในการทำงานของเอนไซม์ชนิดนี้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งจะส่งผลต่อระดับของยา omeprazole ในเลือดและการตอบสนองต่อการรักษาก็จะมีความแตกต่างกันไปด้วย ในปัจจุบันพบว่า CYP2C19 มีอยู่ 35 variant allele โดย CYP2C19 allele ที่สำคัญที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ได้แสดงไว้ในตารางที่ 1 โดยคนส่วนใหญ่มี CYP2C19 allele เป็นแบบ *1/*1 ซึ่งเป็น wild type allele จัดเป็นคนที่มีการทำงานของเอนไซม์นี้ค่อนข้างสูง [extensive metabolizer (EM)] ในขณะที่คนที่อยู่ในกลุ่ม ultrarapid metabolizer จะมีการกำจัดยาเร็วมากกว่าปกติทำให้ระดับยาในเลือดต่ำกว่าปกติจนอาจไม่ให้ผลในการรักษา ส่วนคนที่อยู่ในกลุ่ม poor metabolizer จะมีระดับยา omeprazole สูงกว่าคนปกติเมื่อใช้ยาในขนาดที่เท่ากัน โดยในคนไทยมีรายงานพบ CYP2C19 polymorphism ชนิด poor metabolizer ประมาณ 9.2% และแม้ว่า omeprazole มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า omeprazole มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP2C19 ดังนั้นระดับยา omeprazole ที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดปฏิกิริยาของยา omeprazole กับยาที่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์นี้ โดยในปี ค.ศ. 2009 องค์การอาหารและยาแห่งประเทศสาธารณรัฐอเมริกา (USFDA) ได้ออกคำเตือนถึงความเสี่ยงของการเกิดปฏิกิริยาระหว่าง omeprazole กับ clopidogrel(ยัง controversy?) ซึ่งเป็นยายับยั้งการจับกลุ่มกันของเกล็ดเลือดที่ใช้ในการป้องกันการเกิด stroke และ ภาวะหัวใจตายเพราะขาดเลือด (myocardial infarction) ทั้งนี้เนื่องจาก clopidogrel เป็น prodrug คืออยู่ในรูปที่ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้โดยทันทีต้องอาศัยเอนไซม์ในร่างกายเปลี่ยนให้อยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ (active metabolite) โดยเอนไซม์ CYP2C19 เป็นเอนไซม์สำคัญในการเปลี่ยน clopidrogrel ให้อยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ ดังนั้น omeprazole จึงอาจไปลดผลการรักษาของยา clopidogrel และอาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้
อ้างอิง
- Samer, C.F., et al., Applications of CYP450 testing in the clinical setting. Mol Diagn Ther, 2013. 17(3): p. 165-84.
- Serrano, D., et al., The influence of CYP2C19 genetic polymorphism on the pharmacokinetics/- pharmacodynamics of proton pump inhibitor-containing Helicobacter pylori treatments. Curr Drug Metab, 2012. 13(9): p. 1303-12.
- Tassaneeyakul, W., et al., CYP2C19 genetic polymorphism in Thai, Burmese and Karen populations. Drug Metab Pharmacokinet, 2006. 21(4): p. 286-90.
- http://www.fda.gov/NewsEvents/Newsroom/PressAnnouncements/2009/ucm191169.htm
No comments:
Post a Comment