อย่าใช้พาราเซตามอลเกินขนาด อาจเกิดพิษต่อตับ เสียชีวิตได้
พญ.ณัฐสุดา อ่วมแป้น
ภาควิชาเภสัชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำแนะนำ
- อย่าใช้พาราเซตามอลเกินขนาด อาจเกิดพิษต่อตับ เสียชีวิตได้
- ไม่ควรจ่ายยาผสมที่มีพาราเซตามอลเกินกว่า 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด
- ห้ามฉีดพาราเซตามอลเข้าทางหลอดเลือดดำ พาราเซตามอลที่มีใช้ในประเทศไทยมีเฉพาะแบบฉีดเข้ากล้ามเท่านั้น อีกทั้งยังไม่อยู่ในบัญชียาหลักของประเทศไทย
รายละเอียด
พาราเซตามอลเป็นยาสามัญประจำบ้านสำหรับบรรเทาปวดลดไข้ ประชาชนสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ปัจจุบันพบว่าคนไทยจำนวนมากใช้พาราเซตามอลเกินขนาด อาจทำให้เกิดพิษต่อตับและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ประชาชนทั่วไปและบุคลากรสาธารณสุขทุกคนจึงควรตระหนักถึงปัญหานี้และร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจากการศึกษาวิจัย1พบว่าหากใช้พาราเซตามอลขนาด 4 กรัมต่อวัน ติดต่อกัน 14 วัน ร้อยละ 31-44 ของผู้เข้ารับการทดลองชาวอเมริกันจะมีการอักเสบของตับ ที่ทำให้เอนไซม์ตับเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ทานพาราเซตามอล ทางองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้ประกาศเตือนแพทย์และเภสัชกรไม่ให้จ่ายยาผสมที่มีพาราเซตามอลเกินกว่า 325 มิลลิกรัมต่อเม็ดแก่ประชาชน เนื่องจากจัดเป็นยาที่ไม่ปลอดภัย อาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อตับได้2 อีกทั้งยังให้คำแนะนำในการปรับลดขนาดพาราเซตามอล ที่ใช้แต่ละครั้งไม่ให้เกิน 650 มิลลิกรัม และขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 2,600 มิลลิกรัม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อตับ
อันตรายต่อตับที่เกิดจากยาพาราเซตามอลอาจมีได้ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย ค่าเอนไซม์ตับชนิด transaminase สูงขึ้น อาการของตับอักเสบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก เบื่ออาหาร ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการแสดงของตับวาย เช่น ซึม สับสน ทำให้เสียชีวิตได้
ระยะเวลาที่ใช้พาราเซตามอลก็มีความสำคัญ แนะนำให้รับประทานพาราเซตามอลติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน เพราะอาจเกิดพิษต่อตับได้ หากจำเป็นต้องใช้นานกว่านี้ควรปรึกษาแพทย์ จากการศึกษาวิจัย1 (ภาพที่ 1)ไม่พบการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับมากกว่า 3 เท่าของค่าปกติ ถ้าใช้พาราเซตามอลอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 วันแรก
para-graph
ขนาดยาสูงสุดต่อวันที่แพทย์ควรพิจารณาในการสั่งพาราเซตามอล มีดังต่อไปนี้
ถ้าใช้ยาชนิด 500 มก.ต่อเม็ด ไม่ควรใช้เกิน 6 เม็ดต่อวัน (ไม่เกิน 3 กรัมต่อวัน)
ถ้าใช้ยาชนิด 325 มก. ต่อเม็ด ไม่ควรใช้เกิน 10 เม็ดต่อวัน (ไม่เกิน 3.250 กรัมต่อวัน)
หากใช้ระยะยาว (ในโรคเรื้อรัง) อาจปรับลดขนาดยาสูงสุดเป็นไม่เกิน 2.6 กรัมต่อวัน (ไม่เกิน 8 เม็ดของยาชนิด 325 มก.)
นอกจากเรื่องพาราเซตามอลรูปแบบรับประทานแล้ว ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพาราเซตามอลในรูปแบบฉีดอีก กล่าวคือ มีการนำพาราเซตามอลในรูปแบบฉีดไปฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งในประเทศไทยนั้นยาชนิดนี้มีเฉพาะประเภทฉีดเข้ากล้ามเท่านั้น อีกทั้งส่วนประกอบของยามีทั้งยาเดี่ยว และยาสูตรผสมกับ lidocaine ซึ่งเป็นยาชาชนิดหนึ่ง ถ้าฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำโดยตรง ทำให้ระบบหัวใจหลอดเลือดล้มเหลวได้ นอกจากนี้พาราเซตามอลรูปแบบฉีดยังถูกนำออกจากบัญชียาหลักฯ เนื่องจากขาดข้อมูลสนับสนุนในทุกๆ ด้านทั้งในประสิทธิผล ความปลอดภัย คุณภาพมาตรฐาน เภสัชจลนศาสตร์ และขนาดยาไม่ถึงขนาดรักษา3
ประชาชนควรทราบว่ายาสูตรผสมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายดังตัวอย่างในตารางข้างล่างนี้ มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ จึงไม่ควรรับประทานพาราเซตามอลซ้ำซ้อนอีก
สรุปโดยรวมแล้ว จะเห็นได้ว่า ยาสามัญประจำบ้านชื่อพาราเซตามอลที่มีในทุกๆบ้านนั้น มีอันตรายต่อผู้ใช้เป็นอันมากหากใช้เกินขนาด ดังนั้นประชาชนทั่วไปรวมถึงบุคลากรทางสาธารณสุขทุกคนจึงควรศึกษาเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดขึ้นได้จากยาชนิดนี้
อ้างอิง
- Watkins PB, Kaplowitz N, Slattery JT, et al. Aminotransferase Elevations in Healthy Adults Receiving 4 Grams of Acetaminophen Daily: A Randomized Controlled Trial. JAMA 2006;296(1):87-93.
- U.S. Food and Drug Administration. FDA Drug Safety Communication: Prescription Acetaminophen Products to be Limited to 325 mg Per Dosage Unit; Boxed Warning Will Highlight Potential for Severe Liver Failure [internet]. 2011 [updated 2014 Jan 17; cited 2014 Sep 25]. Available from: http://www.fda.gov/Drugs/DrugSafety/ucm239821.htm#
- เหตุใดยา Paracetamol Injection จึงไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2551 [internet]. 2012 [updated 2012 Nov 15; cited 2014 Sep 25]. Available from: http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/node/10178
No comments:
Post a Comment