Tranexamic acid กับการรักษาฝ้า (melasma)
ฝ้า (Melasma) คือ ผื่นน้ำตาลราบที่มักพบกระจายบนใบหน้าอย่างสมมาตร โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย กลไกการเกิดฝ้ายังไม่อาจสรุปได้ชัดเจน แต่พันธุกรรม รังสีเหนือม่วง และฮอร์โมนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ดังนั้น การป้องกันแสงแดดจึงเป็นส่วนสำคัญทั้งในการป้องกันและรักษาฝ้า(1)
ยารักษาฝ้าในปัจจุบัน ประกอบด้วย hydroquinone, tretinoin cream, azelaic acid, rucinol และ kojic adic โดยสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ยาทาซึ่งประกอบด้วย hydroquinone, tretinoin และ weak topical corticoid(1,2)
นอกจากยาแล้ว chemical peel และ laser therapy ยังนำมาใช้ในการรักษาฝ้า แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้ผิวคล้ำมากขึ้นได้(1)
เนื่องจากฝ้าบางชนิด โดยเฉพาะฝ้าลึก (dermal hyperpigmentation) ตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดี จึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการศึกษายาชนิดใหม่ๆ เพื่อใช้รักษาฝ้า(1)
Tranexamic acid เป็นสารที่ยับยั้ง plasminogen activator และใช้ในการลดการสลายลิ่มเลือดผิดปกติซึ่งนำไปสู่การเสียเลือด เนื่องจากมีการศึกษาที่พบว่า เซลล์ผิวหนังของคนมีการผลิต plasminogen activator ซึ่งจะถูกกระตุ้นด้วยรังสีเหนือม่วง และนำไปสู่การสร้างสารสี ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ tranexamic acid จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเกิดฝ้า(2)
การศึกษาผลของการฉีด tranexamic acid ใต้ผิวหนูตะเภา พบว่า ไม่มีผลต่อจำนวนเซลล์เม็ดสี (melanocyte) ของหนู แต่ระดับของสารสี melanin ในหนูที่ฉีดยามีระดับต่ำกว่าหนูที่ไม่ได้ฉีดยาอย่างมีนัยสำคัญ(3)
การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นและจีนพบว่า การรับประทาน tranexamic acid ช่วยลดความรุนแรงของฝ้าได้ แต่พบว่าฝ้ามีการขึ้นใหม่หลังหยุดยา โดยการเพิ่มระยะเวลาของการรักษาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษามากกว่าการเพิ่มขนาดยา (2,4)
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของ tranexamic acid คือ อาการทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 5 และจากการสุ่มตรวจการแข็งตัวของเลือดในผู้ป่วย ยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ(2)
การศึกษาประสิทธิภาพของ tranexamic acid ในการรักษาฝ้าแบบ controlled trial ครั้งแรกทำขึ้นในปี 2011 โดยใช้ tranexamic acid รับประทานขนาด 500 มิลลิกรัมต่อวันเป็นการรักษาเสริมจาการรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ โดยพบว่าช่วยให้ฝ้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และไม่พบว่าผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย(5)
ดังนั้น ขนาดของ tranexamic acid ชนิดรับประทานที่ใช้สำหรับรักษาฝ้า คือ ครั้งละ 250 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งขนาดยานี้เป็นขนาดที่น้อยกว่าขนาดยาสำหรับลดเลือดออก(2)
สำหรับรูปแบบอื่นๆ ของ tranexamic acid มีรายงานถึงประสิทธิภาพของการฉีดเข้าใต้ผิวหนังl(6) ในขณะที่ข้อมูลของประสิทธิภาพของยาชนิดทายังขัดแย้งกัน(7,8) ไม่มีข้อมูลถึงประสิทธิภาพของการฉีดเข้าหลอดเลือด
การใช้ tranexamic acid ในการรักษาฝ้ามีอัตราการเกิดผลข้างเคียงที่ต่ำ และยังไม่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดที่ได้รับการยืนยัน แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำไม่ให้ใช้ tranexemic acid ใน สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด และผู้ที่รับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น aspirin, clopidogrel(2)
1. Lapeere H, Boone B, Schepper S De, Verhaeghe E, Geel M Van, Ongenae K, et al. Chapter 75. Hypomelanoses and Hypermelanoses. In: Goldsmith LA, Katz SI, Gilchrest BA, Paller AS, Leffell DJ, Wolff K, editors. Fitzpatrick’s Dermatology in General Medicine, 8e [Internet]. New York, NY: The McGraw-Hill Companies; 2012. Available from: http://mhmedical.com/content.aspx?aid=56043626
2. Tse TW, Hui E. Tranexamic acid: an important adjuvant in the treatment of melasma. J Cosmet Dermatol. Wiley Online Library; 2013;12(1):57–66.
3. Li D, Shi Y, Li M, Liu J, Feng X. Tranexamic acid can treat ultraviolet radiation-induced pigmentation in guinea pigs. Eur J Dermatology. 2010;20(3):289–92.
4. Higashi N. Treatment of melasma with oral tranexamic acid. Ski Res. 1988;30:676–80.
5. Cho HH, Choi M, Cho S, Lee JH. Role of oral tranexamic acid in melasma patients treated with IPL and low fluence QS Nd: YAG laser. J Dermatolog Treat. Taylor & Francis; 2013;24(4):292–6.
6. Lee JH, Park JG, Lim SH, Kim JY, Ahn KY, KIM M, et al. Localized intradermal microinjection of tranexamic acid for treatment of melasma in Asian patients: a preliminary clinical trial. Dermatologic Surg. Wiley Online Library; 2006;32(5):626–31.
7. Kondou S, Okada Y, Tomita Y. Clinical study of effect of tranexamic acid emulsion on melasma and freckles. Ski Res. NIHON HIFUKA GAKKAI OSAKA CHIHOKAI; 2007;6(3):309.
8. Kanechorn Na Ayuthaya P, Niumphradit N, Manosroi A, Nakakes A. Topical 5% tranexamic acid for the treatment of melasma in Asians: a double-blind randomized controlled clinical trial. J Cosmet Laser Ther. Taylor & Francis; 2012;14(3):150–4.
No comments:
Post a Comment