Saturday, March 21, 2020

การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือและฆ่าเชื้อตามพื้นผิวต่างๆ เพื่อกำจัด ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ เชื้อไวรัสโควิด-19 (Application of hand sanitizer and disinfectant for COVID-19)


การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือและฆ่าเชื้อตามพื้นผิวต่างๆ เพื่อกำจัด ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ เชื้อไวรัสโควิด-19
(
Application of hand sanitizer and disinfectant for COVID-19)
อ.นพ.ธนกฤต พงพิทักษ์เมธา 1
อ.นพ.นพดล วัชระชัยสุรพล
1
1 ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความนี้เหมาะสำหรับ: ประชาชนโดยทั่วไปและผู้ที่สนใจ
บทนำ (Introduction)
เชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (Human corona virus 2019; HCoV-2019) หรือ เชื้อไวรัสโควิด-19 (Coronavirus disease-19; COVID-19) หรือ เชื้อซารส์โคโรนาไวรัส 2 (Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2; SARS-CoV-2) เป็นเชื้อที่แพร่ระบาดทั่วโลก (pandemic) โดยเริ่มจากการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อตัวนี้จะมีอาการได้ตั้งแต่ ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้เล็กน้อย ปวดเมื่อยตามตัว ไอ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย (ประมาณ 81%) หรือมีอาการรุนแรงไปจนถึงภาวะปอดบวม ภาวะหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ (1) ผลการศึกษาล่าสุด (ตีพิมพ์วันที่ 9 มีนาคม 2563) ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่นพบว่า ผู้ป่วยสูงอายุ และมีอาการรุนแรงตั้งแต่ระยะแรก จะมีโอกาสเสียชีวิตที่สูงกว่าผู้ติดเชื้อรายอื่น (2)
สำหรับข้อมูลอัตราการเสียชีวิตตามช่วงอายุโดยละเอียด พบว่าจากการรายงานล่าสุดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศจีน (Chinese Center for Disease Control and Prevention) (ตีพิมพ์วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563) จากจำนวนผู้ป่วย 72,314 รายในประเทศจีน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563) มีอัตราเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโดยรวม (Case fatality rate) อยู่ที่ 2.3% เมื่อพิจารณาแยกตามช่วงอายุ พบว่าอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยอายุ 50-59 ปี, 60-69 ปี, 70-79 ปี และมากกว่า 80 ปี เท่ากับ 1.3%, 3.6%, 8.0%, และ 14.8% ตามลำดับ ในขณะเดียวกันในช่วงอายุ 10-39 ปี และ 40-49 ปี มีอัตราเสียชีวิต 0.2% และ 0.4% ตามลำดับ และไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตในช่วงอายุ 0-9 ปี (1) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (Center of Disease Control and Prevention, United States of America; CDC) (ข้อมูลตั้งแต่ 12 กุมภาพันธ์ ถึง 16 มีนาคม 2563) พบว่าอัตราเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโดยรวม อยู่ที่ 1.8%  และเมื่อแยกตามช่วงอายุพบว่า หากอายุ 55-64 ปี, 65-74 ปี, 75-84 ปี และมากกว่า 85 ปี จะมีอัตราเสียชีวิตเท่ากับ 1.4%, 2.7%, 4.3%, และ 10.4% ตามลำดับ ในขณะที่ช่วงอายุ 20-44 ปี และ 45-54 ปี จะมีอัตราเสียชีวิตเท่ากับ 0.1% และ 0.5% ตามลำดับ และไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตในช่วงอายุ 0-19 ปี (3) จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่าประชากรอายุมากกว่า 50–55 ปี จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มที่อายุน้อยกว่าอย่างชัดเจน (สรุปดังแผนภาพที่ 1)



การแพร่กระจายเชื้อ
การแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คน (person-to-person transmission) เกิดได้จาก 2 ช่องทางหลัก (4) ได้แก่
1)       การติดต่อผ่านทางละอองฝอยขนาดใหญ่ (Droplet transmission) เมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อภายในระยะ 2 เมตร (6 ฟุต) หรือผู้ติดเชื้อไอหรือจามแล้วทำให้เกิดละอองฝอยซึ่งสามารถกระเด็นเข้าเยื่อบุตา ช่องปาก เยื่อบุโพรงจมูกโดยตรง หรือหายใจเข้าสู่ปอด
2)       การติดต่อผ่านทางการสัมผัส (Direct and indirect transmission) เช่น การที่ผู้ติดเชื้อนำมือที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะของตนเองไปสัมผัสตามพื้นผิวต่างๆ (อาทิ ลิฟต์ บันไดเลื่อน ลูกบิดประตู) แล้วมีผู้ที่ไม่ทันระมัดระวังไปจับพื้นผิวดังกล่าวแล้วกลับมาสัมผัสบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณเยื่อบุตา จมูก ช่องปาก จนได้รับเชื้อต่อมา โดยระยะเวลาที่เชื้อจะคงอยู่ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อ ลักษณะพื้นผิว และอุณหภูมิของพื้นผิว พบว่าหากอุณหภูมิสูงขึ้น เช่น 30-40 องศาเซลเซียส เชื้อจะคงอยู่ได้สั้นลง แต่ถ้าหากอุณหภูมิต่ำถึง 4 องศาเซลเซียส เชื้ออาจจะอยู่ได้เป็นเดือน (5,6) จากการศึกษาแบบจำลองในห้องทดลอง (อุณหภูมิ 21-23 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 40%) พบว่าสามารถตรวจเชื้อที่ตกค้างอยู่พื้นผิวได้นานถึง 72 ชั่วโมง (6) และบางการศึกษาพบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆอาจจะอยู่ได้ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงจนถึง 9 วันบนพื้นผิวที่อุณหภูมิห้อง (ประมาณ 21 องศาเซลเซียส) (5)
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการศึกษาในห้องทดลองล่าสุด (ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อ 17 มีนาคม 2563) พบว่าเชื้อโควิด-19 สามารถคงอยู่เป็นสภาพละอองฝอยได้เป็นระยะเวลาถึง 3 ชั่วโมง (6) จึงทำให้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ออกมาเตือนบุคลากรทางการแพทย์ให้เฝ้าระวังว่าเชื้อชนิดนี้อาจจะแพร่กระจายแบบแขวนละอองในอากาศ (Airborne transmission) และต้องป้องกันตัวเองทุกครั้งก่อนดูแลผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตามต้องได้รับการศึกษายืนยันเพิ่มเติมต่อไปว่ามีโอกาสแพร่เชื้อในสภาพแวดล้อมจริงหรือไม่
วิธีการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ
ถึงแม้ว่าโรคโควิด-19 จะดูน่ากลัว แพร่กระจายเร็ว และมีโอกาสติดได้ง่าย แต่พวกเราสามารถช่วยป้องกันตัวเองและคนอื่นที่อาศัยอยู่ร่วมกันได้ด้วยวิธีต่างๆตามคำแนะนำของ CDC (7) ด้วยวิธีการต่อไปนี้
1) การตั้งสติ ศึกษาหาข้อมูลและเข้าใจวิธีการแพร่ระบาดของตัวโรคอย่างถูกต้อง
2) หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยืนยันหรือสงสัยโรค
3) ล้างมือบ่อยๆอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะหลังไอ จาม ก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้า ก่อนรับประทานอาหาร หลังการใช้ห้องน้ำ หลังสัมผัสพื้นผิวในที่สาธารณะ (อาทิ ปุ่มลิฟต์ มือจับประตู ราวบันได)
·       ด้วยสบู่และน้ำ (40-60 วินาที) หากทำได้ครบ 11 ขั้นตอนอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของ WHO ดังภาพประกอบที่ 2 ก็จะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้ไม่ต่างจากเจลแอลกอฮอล์ และควรใช้วิธีนี้เมื่อมีสิ่งสกปรกหรือสารคัดหลั่งบนมือชัดเจน เช่น หลังไอ จาม มีเสมหะ น้ำมูก หรือสารคัดหลั่งปนเปื้อนบนมือ (อ้างอิงจาก https://www.who.int/gpsc/clean_hands_protection/en/) (8)
·       ด้วยเจลแอลกอฮอล์ (20-30 วินาที) ด้วยขั้นตอนการล้างมือเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น ดังภาพประกอบที่ 2 ล้างให้ทั่วมือจนแห้ง ไม่ต้องล้างน้ำซ้ำ (อ้างอิงจาก https://www.who.int/gpsc/5may/How_To_HandRub_Poster.pdf)
4) ใส่หน้ากากอนามัยในกรณีที่มีโอกาสสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ทำงานในโรงพยาบาล สนามบิน คนขับรถ หรือสถานที่แออัด เช่น ผับ โรงหนัง สนามมวย สนามม้า
5) ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ (Disinfectant) ตามพื้นผิวต่างๆ เป็นประจำทุกวัน เช่น โต๊ะ ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ โทรศัพท์ คีย์บอร์ด ชักโครก อ่างล้างมือ ปุ่มกดลิฟต์ บริเวณที่มีการสัมผัสร่วมบ่อยครั้ง จำเป็นต้องทำความสะอาดระหว่างวันอย่างพอเพียง โดยถ้าพื้นผิวมีความสกปรกมากควรใช้สบู่หรือน้ำทำความสะอาดก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อตามพื้นผิว
การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ (Hand sanitizer)
            การใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือลดจำนวนเชื้อหรือฆ่าเชื้อเพื่อไม่ให้มีการนำเชื้อจากบริเวณมือเข้าสู่ตนเองหรือแพร่ไปยังผู้อื่น โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ต่อไปนี้
1)       สบู่ (Soap) และการล้างมือที่ถูกต้อง (Hand hygiene) เป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดสิ่งสกปรก เชื้อโรค หรือไวรัสให้หลุดออกไปจากมือเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยอาศัยการลดแรงตึงผิวช่วยให้น้ำชะล้างสิ่งสกปรกอยากจากมือได้ดีขึ้น แต่อาจจะมีความลำบากคือต้องมีอ่างล้างมือและกระดาษเช็ดมือ
2)       แอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ (Alcohol-based hand sanitizer) ทำความสะอาดมือจนทั่วจนกระทั่งมือแห้งเพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณมือโดยไม่ต้องใช้น้ำ โดยแอลกอฮอล์จะทำหน้าที่ฆ่าเชื้อไวรัสให้ตายและไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้
2.1.               ชนิดเอธิล แอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) หรือ เอธานอล (Ethanol) เป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดมากที่สุด ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% โดยปริมาตรต่อปริมาตร (%v/v) (9)
2.2.               ชนิดไอโซโพรพานอล (Isopropanol) หรือ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol) ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% (%v/v) (9)
หมายเหตุ: จากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 9 มีนาคม 2563 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 70% ไม่สามารถผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายในประเทศไทยได้ จึงเหลือผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% อยู่ในท้องตลาดเท่านั้น (อ้างอิง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/054/T_0006.PDF)



การใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อตามพื้นผิวต่างๆ (Disinfectant)
            ข้อควรทราบเบื้องต้นคือผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อตามพื้นผิวต่างๆหลายชนิดจะมีความรุนแรงในการฆ่าเชื้อโรคมากและอาจทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตหรือผิวหนังของมนุษย์ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ใช้งานควรใส่ถุงมือ ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อตามพื้นผิวต่างๆด้วยความระมัดระวัง ไม่ผสมหลายผลิตภัณฑ์พร้อมๆกัน ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดหลังจากกำจัดคราบสกปรกเบื้องต้นแล้ว รวมไปถึงต้องใช้ตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้หากได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย ต้องมีข้อความระบุว่าสามารถ “ฆ่าเชื้อโรค” หรือ “ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หรือ “ฆ่าเชื้อไวรัส” ต้องมีสารสำคัญเป็นสารฆ่าเชื้อ และต้องมีเลขทะเบียน อย. ซึ่งสามารถตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.ได้ที่เว็บไซต์ http://www.fda.moph.go.th/ หัวข้อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ (10)
สำหรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่อาจจะนำไปใช้ที่บ้านหรือสถานที่สาธารณะได้ โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ CDC (7,11), United States Environmental Protection Agency (EPA) (12,13), Singaporean National Environmental Agency (NEA) (14) และงานวิจัยชนิดทบทวนวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Hospital Infection (5) (รายละเอียดสรุปในแผนภาพที่ 3) พอจะสรุปข้อมูลเบื้องต้นได้ดังนี้
1)       เอธิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% นอกจากจะมีความปลอดภัยสำหรับการทำความสะอาดมือแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการทำความสะอาดพื้นผิวเล็กๆ อาทิ โทรศัพท์ คีย์บอร์ด ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถฆ่าเชื้อไวรัสบนพื้นผิวได้ภายใน 1 นาทีหลังจากทำความสะอาด และเป็นทางเลือกแรกที่หลายๆองค์กรแนะนำให้ใช้สำหรับการทำความสะอาดพื้นผิว (5,7,11,13,14)
2)       โซเดียม ไฮโปคลอไรด์ (Sodium hypochlorite; NaClO) หรือ ผลิตภัณฑ์ฟอกขาว (Bleach) หรือ คลอรีนน้ำ (Chlorine) เป็นสารกลุ่มฮาโลเจน (halogen) ชนิดสารประกอบคลอรีน มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโดยทำให้โปรตีนเสียสภาพ ตัวสารมีความสามารถฆ่าเชื้อได้สูง รวดเร็ว และดับกลิ่นได้ แต่มีข้อเสียคือมีกลิ่นฉุน มีฤทธิ์กัดกร่อน ทำให้ผิวปวดแสบร้อนเวลาสัมผัส ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีขายตามท้องตลาด เช่น ไฮเตอร์ (Haiter) เข้มข้น 6.0% คลอร็อกซ์ (Clorox) เข้มข้น 6.0% เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะมีความเข้มข้นค่อนข้างสูง จำเป็นต้องเจือจางด้วยน้ำสะอาดก่อนใช้ หลังจากเจือจางด้วยน้ำสะอาดแล้ว ควรมีความเข้มข้นอย่างน้อย 0.1% จึงจะมีความสามารถในการกำจัดไวรัสได้ภายใน 1 นาทีหลังจากทำความสะอาด โดยมีขอแนะนำว่าสำหรับน้ำยาที่เข้มข้น 6.0% อาจผสมน้ำยา 1 ส่วน กับน้ำ 59 ส่วน เพื่อให้ได้น้ำยาสูตรที่มีความเข้มข้น 0.1% (สูตรเจือจาง) หรือผสมน้ำยา 1 ส่วน กับน้ำ 11 ส่วนเพื่อให้ได้น้ำยาสูตรที่มีความเข้มข้น 0.5% (สูตรมาตรฐาน) ก็ได้  โดยสารกลุ่มนี้เป็นทางเลือกแรกที่หลายองค์กรแนะนำให้ใช้สำหรับการทำความสะอาดพื้นผิว (5,7,11,13,14)
3)       ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) ความเข้มข้นอย่างน้อย 0.5% เป็นสารละลายใสไม่มีสี ออกฤทธิ์โดยปล่อยสารอนุมูลอิสระมาทำลายเชื้อ โดยสลายตัวให้น้ำและออกซิเจนจึงไม่มีสารพิษตกค้าง ออกฤทธิ์สั้นและสลายตัวง่าย ควรทิ้งไว้ 1 นาทีก่อนล้างออก การเก็บรักษาต้องปิดให้สนิทและไม่โดนแสง ผลิตภัณฑ์ที่มีขายในท้องตลาดมักมีความเข้มข้นประมาณ 1.5-3.0% (สำหรับใช้ทำความสะอาดแผล) หากต้องการปริมาณน้ำยาเพิ่มขึ้นสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้น 3.0% มา 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 5 ส่วนแล้วใช้ทันที (ความเข้มข้นสุดท้ายประมาณ 0.5%) โดยจากการศึกษาพบว่ามีความสามารถกำจัดเชื้อไวรัสบนพื้นผิวได้ภายใน 1 นาที (5,13,14)
4)       ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol) ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% ออกฤทธิ์ในลักษณะเดียวกับแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆในการกำจัดเชื้อแต่อาจจะมีฤทธิ์อ่อนกว่าเล็กน้อย (5,1315)
5)       เบนซาลโคเนียม คลอไรด์ (Benzalkonium chloride or Alkyl dimethyl benzyl ammonium chloride) ความเข้มข้นอย่างน้อย 0.05% เป็นสารที่ออกฤทธิ์ด้วยการลดแรงตึงผิวคล้ายสบู่ สามารถออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว ละลายน้ำได้ดี มีพิษต่ำ ไม่ระคายเคืองมาก หากใช้ในความเข้มข้นที่ต่ำ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีขายตามท้องตลาด เช่น โทมิ (Tomi) เข้มข้น 1% เดทตอล (Dettol) รุ่น Hygiene multi-use disinfectant เข้มข้น 2.4% (ข้อสังเกตคือไม่มีสัญลักษณ์มงกุฎสีฟ้า) ถือว่ามีความรุนแรงสูงกว่าผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ จึงไม่ควรใช้กับผิวหนังโดยตรง บนฉลาก จากข้อมูลงานวิจัยที่ทดลองโดยใช้ความเข้มข้นระหว่าง 0.05-0.2% พบว่าอาจมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อไวรัสต่ำกว่าสารในข้อ 1) ถึง 3) (5,14,15)
6)       คลอโรไซลินอล (Chloroxylenol) ความเข้มข้นอย่างน้อย 0.12% เป็นสารที่ออกฤทธิ์ด้วยการทำลายผนังของเชื้อโรคจนเกิดรูรั่วออกมาและตกตะกอนโปรตีน ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีขายตามท้องตลาด เช่น เดทตอล (Dettol) รุ่น Antiseptic disinfectant (เข้มข้น 4.8% ข้อสังเกตคือมีสัญลักษณ์มงกุฎสีฟ้าบนฉลาก) ซึ่งสามารถนำมาใช้ทำความสะอาดพื้นผิวและผิวหนัง (น้ำยา 1 ส่วน ผสมน้ำ 39 ส่วน) ได้อย่างปลอดภัย (14,16)
7)       โพวิโดนไอโอดีน (Povidone iodine) ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 1% ของไอโอดีน เป็นสารกลุ่มฮาโลเจนชนิดสารประกอบไอโอดีน มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโดยทำให้โปรตีนเสียสภาพ มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อสูง สามารถนำมาใช้ทำความสะอาดผิวหนังหรือพื้นผิวต่างๆได้ แต่มีข้อเสียคือทำให้เกิดสีตกค้าง (Staining) ออกสีเข้มเหลืองน้ำตาลได้และทำปฏิกิริยากับโลหะ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีขายตามท้องตลาด เช่น เบตาดีน (Betadine) สำหรับหยอดแผลที่ขายตามท้องตลาด มีความเข้มข้นของไอโอดีน 1% สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องเจือจาง (5,14,17)
ไม่แนะนำให้ใช้สารครีซอล (Cresol) ในการกำจัดเชื้อไวรัสบนพื้นผิว เนื่องจากไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์รับรองว่าสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้และไม่ได้รับการรับรองจาก CDC EPA หรือ NEA โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีขายตามท้องตลาด เช่น ไลซอล (Lysol) สูตรที่ใช้สารครีซอลเป็นสารสำคัญ (5)
ไม่แนะนำให้ใช้สารคลอเฮ็กซีดีน ไดกลูโคเนต (Chlorhexidine digluconate) ความเข้มข้นเพียง 0.02% (โดยไม่มีส่วนผสมอื่น) เนื่องจากไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการกำจัดเชื้อไวรัสบนพื้นผิวต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการใช้สารคลอเฮ็กซีดีน ไดกลูโคเนตความเข้มข้นที่สูงขึ้นจะสามารถนำมาใช้เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสได้จริงหรือไม่ (5)
ถึงแม้เจ้าไวรัสตัวร้ายจะปั่นป่วนโลกมากขนาดไหน เราก็ยังคงมีหนทางที่จะผ่านวิกฤตเหล่านี้ไปได้ด้วยการเข้าใจตัวโรค การแพร่ระบาดของตัวโรค ป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากไวรัสร้ายจากคำแนะนำข้างต้น

 “หมอขอทำงานหนักที่โรงพยาบาลเพื่อคุณ ขอให้คุณพักอยู่ที่บ้านเพื่อพวกเรา”



Reference
1.    Wu Z, McGoogan JM. Characteristics of and Important Lessons From the Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) Outbreak in China: Summary of a Report of 72 314 Cases From the Chinese Center for Disease Control and Prevention. JAMA [Internet]. 2020 Feb 24 [cited 2020 Mar 19]; Available from: https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2762130
2.    Zhou F, Yu T, Du R, Fan G, Liu Y, Liu Z, et al. Clinical course and risk factors for mortality of adult inpatients with COVID-19 in Wuhan, China: a retrospective cohort study. The Lancet [Internet]. 2020 Mar 11 [cited 2020 Mar 18];0(0). Available from: https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)30566-3/abstract
3.    CDCMMWR. Severe Outcomes Among Patients with Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) — United States, February 12March 16, 2020. MMWR Morb Mortal Wkly Rep [Internet]. 2020 [cited 2020 Mar 19];69. Available from: https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/69/wr/mm6912e2.htm
4.    CDC. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) - Transmission [Internet]. Centers for Disease Control and Prevention. 2020 [cited 2020 Mar 18]. Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prepare/transmission.html
5.    Kampf G, Todt D, Pfaender S, Steinmann E. Persistence of coronaviruses on inanimate surfaces and their inactivation with biocidal agents. J Hosp Infect. 2020 Mar 1;104(3):24651.
6.    van Doremalen N, Bushmaker T, Morris DH, Holbrook MG, Gamble A, Williamson BN, et al. Aerosol and Surface Stability of SARS-CoV-2 as Compared with SARS-CoV-1. N Engl J Med. 2020 Mar 17;NEJMc2004973.
7.    CDC. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) – Prevention & Treatment [Internet]. Centers for Disease Control and Prevention. 2020 [cited 2020 Mar 17]. Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prepare/prevention.html
8.    WHO | Clean hands protect against infection [Internet]. WHO. World Health Organization; [cited 2020 Mar 19]. Available from: https://www.who.int/gpsc/clean_hands_protection/en/
9.    CDC. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) - CDC Statement for Healthcare Personnel on Hand Hygiene during the Response to the International Emergence of COVID-19 [Internet]. Centers for Disease Control and Prevention. 2020 [cited 2020 Mar 19]. Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/infection-control/hcp-hand-sanitizer.html
10. วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคในบ้านเรือนเพื่อป้องกัน “ไวรัสโคโรนา 2019” หรือ “โรคโควิด 19 (Covid-19)” [Internet]. [cited 2020 Mar 17]. Available from: https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1785
11. CDC. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) - Environmental Cleaning and Disinfection Recommendations [Internet]. Centers for Disease Control and Prevention. 2020 [cited 2020 Mar 17]. Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prepare/cleaning-disinfection.html
12. US EPA O. Frequently Asked Questions about List N: Disinfectants for Use Against SARS-CoV-2 [Internet]. US EPA. 2020 [cited 2020 Mar 17]. Available from: https://www.epa.gov/pesticide-registration/frequently-asked-questions-about-list-n-disinfectants-use-against-sars-cov-2
13. US EPA O. List N: Disinfectants for Use Against SARS-CoV-2 [Internet]. US EPA. 2020 [cited 2020 Mar 17]. Available from: https://www.epa.gov/pesticide-registration/list-n-disinfectants-use-against-sars-cov-2
14. Interim List of Household Products and Active Ingredients for Disinfection of the COVID-19 Virus [Internet]. [cited 2020 Mar 18]. Available from: https://www.nea.gov.sg/our-services/public-cleanliness/environmental-cleaning-guidelines/guidelines/interim-list-of-household-products-and-active-ingredients-for-disinfection-of-covid-19
15. Saknimit M, Inatsuki I, Sugiyama Y, Yagami K. Virucidal efficacy of physico-chemical treatments against coronaviruses and parvoviruses of laboratory animals. Jikken Dobutsu. 1988 Jul;37(3):3415.
16. Dellanno C, Vega Q, Boesenberg D. The antiviral action of common household disinfectants and antiseptics against murine hepatitis virus, a potential surrogate for SARS coronavirus. Am J Infect Control. 2009 Oct;37(8):64952.
17. Sattar SA, Springthorpe VS, Karim Y, Loro P. Chemical disinfection of non-porous inanimate surfaces experimentally contaminated with four human pathogenic viruses. Epidemiol Infect. 1989 Jun;102(3):493505.







No comments:

Post a Comment