Monday, February 28, 2022

ผงถ่านคาร์บอน แก้ท้องเสียได้จริงหรือไม่?

 

ผงถ่านคาร์บอน แก้ท้องเสียได้จริงหรือไม่?

พญ.ศิวภรณ์ มโนมัยสันติภาพ

รศ.สุพีชา วิทยเลิศปัญญา

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

            ภาวะท้องเสีย คือการที่ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะเหลวกว่าปกติ และถ่ายบ่อยมากกว่าวันละ 3 ครั้ง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือในบางรายอาจเกิดจากการรับประทานอาหารรสจัดก็ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ซึ่งหากมีอาการไม่มากผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้น รับประทานเกลือแร่ทดแทนสารน้ำที่สูญเสียไปจากการขับถ่าย และถ่ายอุจจาระออกจนหมด อาการก็จะบรรเทาขึ้นได้เอง

            ท้องเสียแบบใดที่ควรมาพบแพทย์?

-          มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 อุจจาระมีกลิ่นเหม็น หรือเป็นมูกเลือด อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ

-          มีอาการนานกว่า 48 ชั่วโมง

-          ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ที่มีอาการรุนแรง

           

ผงถ่านคาร์บอน

            ถ่านคาร์บอน หรือ ถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) มีลักษณะเป็นผงที่ประกอบจากคาร์บอนที่ได้จากถ่าน มีคุณสมบัติในการดูดซับสูง มีพื้นที่ผิวมาก เนื่องจากมีรูเล็กๆ จำนวนมาก สามารถดูดซับสารพิษหรือยาได้

            ข้อบ่งใช้

            ดูดซับสารพิษที่ถูกกลืนลงไปในทางเดินอาหาร โดยจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดหากให้ภายใน 1 ชั่วโมงแรก และให้ได้ไม่ช้ากว่า 6 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารพิษ โดยใช้ปริมาณ 50 กรัมในผู้ใหญ่ หรือ 0.5-1 กรัม/กิโลกรัมในเด็ก

            ข้อห้ามในการใช้ผงถ่าน

-          ไม่ควรให้ในผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ชัก มีปัญหาการกลืน อาเจียนเยอะ หรือความเสี่ยงที่จะสำลึก เนื่องจากถ่านกัมมันต์ที่สำลักลงไปในปอดทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้

-          สงสัยภาวะลำไส้ทะลุ หรือมีแผนการรักษาที่จะต้องส่องกล้องในทางเดินอาหาร

-          ผู้ที่กลืนสารพิษที่เป็นกรด หรือด่าง หรือสารที่ไม่สามารถดูดซับได้ เช่น แก๊ซโซลีน โลหะหนัก

ผลข้างเคียง

-          ท้องผูก ท้องอืด ทำให้เกิดการขาดน้ำ

-          ขัดขวางการดูดซึมยาชนิดอื่นๆ

-          ลำไส้อุดตัน

การรับประทานผงถ่านคาร์บอน กับ ภาวะท้องเสีย

            ถึงแม้ว่าจะมีคำแนะนำบนฉลากยาที่จำหน่ายหน้าเคาเตอร์ (over-the-counter medicine) ตามร้านยาและร้านสะดวกซื้อทั่วไปว่าเป็นยาแก้ท้องเสีย แต่ยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าผงถ่านคาร์บอนมีผลช่วยรักษาภาวะท้องเสียได้ รวมถึงสารอื่นๆ เช่น ไฟเบอร์ ยาเคโอลินและเพ็คติน ก็เช่นกัน ซึ่งสารเหล่านี้ไม่น่าจะมีผลในการลดหรือระงับอาการท้องเสีย แต่อาจช่วยดูดซับพิษที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียในทางเดินอาหาร

หากต้องการรับประทานผงถ่านควรคำนึงถึงผลเสียจากการใช้ ได้แก่

-          หากอาเจียนเยอะอาจทำให้สำลักผงถ่านลงไปในปอด มีความเสี่ยงที่จะเกิดปอดอักเสบ

-          ไม่ควรรับประทานพร้อมกับยาอื่นๆ เพราะผงถ่านจะลดประสิทธิภาพการดูดซึมยา ควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

-          อาจรบกวนกับหัตถการที่จำเป็นในการรักษา โดยเฉพาะการส่องกล้องในทางเดินอาหาร

 

Reference

1.       Treatment of diarrheal disease. Paediatr Child Health. 2003;8(7):455-466. doi:10.1093/pch/8.7.455

2.       Senderovich H, Vierhout MJ. Is there a role for charcoal in palliative diarrhea management?. Curr Med Res Opin. 2018;34(7):1253-1259. doi:10.1080/03007995.2017.1416345

3.       Zellner T, Prasa D, Färber E, Hoffmann-Walbeck P, Genser D, Eyer F. The Use of Activated Charcoal to Treat Intoxications. Dtsch Arztebl Int. 2019;116(18):311-317. doi:10.3238/arztebl.2019.0311

4.       Activated charcoal. www.rama.mahidol.ac.th. https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/anti-cov/charcoal. Accessed February 7, 2022.

No comments:

Post a Comment