Sunday, January 5, 2020

การคุมกำเนิดฉุกเฉิน


การคุมกำเนิดฉุกเฉิน
นพ. สุวิวัฒน์ บุนนาค
ผศ.ดร.พญ.วรรณรัศมี เกตุชาติ
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การคุมกำเนิดฉุกเฉิน เป็นการคุมกำเนิดโดยการใช้ฮอร์โมนเพศหรือวิธีการอื่นๆ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แบบไม่พึงประสงค์จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การคุมเนิดแบบไม่ถูกวิธี หรือใช้ในกลุ่มของบุคคลที่ได้รับการคุกคามทางเพศ
ยาคุมกำเนิดชนิดกิน (Oral contraceptive pills หรือ Oral contraceptives) เป็นยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนและ/หรือโปรเจสเตอโรน ซึ่งต่างก็เป็นฮอร์โมนที่มีอยู่ในร่างกายของเพศหญิง โดยระดับของฮอร์โมนจะมีระดับะเปลี่ยนแปลงไปตามรอบเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้ทำให้เกิดประจำเดือนในผู้หญิง
องค์การอนามัยโลกได้แนะนำวิธีการคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพสูงและได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ประกอบด้วย ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดรับประทาน และห่วงอนามัย
1.      ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraception pill) ออกฤทธิ์โดยการป้องกันการตกไข่หรือทำให้ตกไข่ช้าลงซึ่งกลไกนี้จะเกิดขึ้นหากรับประทานในช่วงก่อนการตกไข่ หากรับประทานหลังช่วงตกไข่ไปแล้วจะไม่สามารถยับยั้งการตกไข่ได้ แต่จะมีผลต่อปากมดลูกโดยทำให้เกิดความข้นเหนียว รวมทั้งทำให้โพรงมดลูกไม่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อนโดยมีการเปลี่ยนแปลงที่เยื่อบุผิวของโพรงมดลูก ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินประกอบด้วย
a.      Yuzpe method ประกอบด้วย Ethinyl estradiol 0.1 มิลลิกรัม และ Levonorgestrel 0.5 มิลลิกรัม โดยกินยาเม็ดแรกหลังมีเพศสัมพันธ์ทันทีภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ เม็ดที่สองกินในอีก 12 ชั่วโมงต่อมา ประสิทธิภาพจะดีเมื่อกินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเนื่องจากการรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนในขนาดสูงจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้อาจหายาเม็คคุมกำเนิดชนิดฮฮร์โมนรวมที่จะนำมารับประทานแบบ Yuzpe method ได้ยากเนื่องจากต้องมีปริมาณเอสโตรเจนถึง 0.1 มิลลิกัมอาจจะต้องรับประทานพร้อมกันหลายเม็ดเนื่องจากยาคุมกำเนิดในปัจจุบันพยายามปริมาณเอสโตรเจนในเม็ดยาลง เช่นเม็ดนึงมีปริมาณเอสโตรเจน 20-35 มิไมโครกรัม อาจจะต้องกินพร้อมกัน 3-5 เม็ด เนื่องจากปัจจุบันมียาคุมชนิดที่มีเอสโตรเจนสูง 50 ไมโครกรัมเพียงไม่กี่ชนิด
b.      ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินโปรเจสเตอโรนขนาดสูง (Levonorgestrel) มีวิธีการกินสองวิธีคือ กินยาขนาด 1.5 มิลลิกรัม กินครั้งเดียวหลังมีเพศสัมพันธ์ 72 ชั่วโมง หรือกินยาขนาด 0.75 มิลลิกรัม กินสองครั้ง เม็ดแรกกินทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ เม็ดที่สองกินห่างจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงและอาการข้างเคียงน้อยกว่า Yuzpe method จึงเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด
2.      ห่วงอนามัย (intrauterine device: IUD) ใช้โดยการสอดใส่ห่วงอนามัยสู่โพรงมดลูกภายในเวลา 5 วัน หลังจากมีเพศสัมพันธ์ มีทั้งหมด 2 ประเภท
a.      ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง (Copper-containing IUD) ประกอบด้วยชนิด multiload 250 คุมกำเนิดได้ 3 ปี multiload 375 คุมกำเนิดได้ 5 ปี และ Copper-T 380 คุมกำเนิดได้ 10 ปี คาดว่าออกฤทธิ์โดยการทำให้เกิดการอักเสบในโพรงมดลูกจากสิ่งแปลกปลอมในโพรงมดลูก ทำให้ขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนและเยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะกับการฝังตัว
b.      ห่วงอนามัยชนิดหลั่ง progestin ประกอบด้วย levonorgestrel-releasing IUD ชนิด mirena มีองค์ประกอบหลักเป็น levonorgestrel 53 มิลลิกรัม คุมกำเนิดได้ 5 ปี ออกฤทธิ์คล้ายกับห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง นอกจากนี้ยังทำให้บริเวณของปากมดลูกข้นเหนียว ป้องกันการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิเข้าไปในมดลูก
ผลข้างเคียง
            ยาคุมกำเนิดประเภท Yuzpe method ซึ่งเป็นยาคุมกำเนิดประเภทฮอร์โมนรวม มีอาการข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียน ส่วนยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด Levonorgestrel พบอาการข้างเคียงคือคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ นอกจากนี้ยังทำให้มีเลือดออกผิดปกติ การใส่ห่วงอนามัยสามารถพบผลข้างเคียงได้คือ เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ตกขาวมากขึ้น หรือมีการติดเชื้อหรือภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อย
ประสิทธิภาพ
            สำหรับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กินหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์ หากกินยาเร็วเพียงใดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ก็จะมากขึ้น โดยภพว่าประสิทธิภาพจะดีเมื่อกินหลังจากมีเพศสัมพันธ์ทันทีหรือภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากนั้นประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลงเรื่อย ๆ จากการศึกษาพบว่าการคุมกำเนิดโดยการกินยาในรูปแบบของ Yuzpe Mothod มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 56-86 ส่วนการคุมกำเนิดโดยใช้ยาคุมที่มีส่วนประกอบของ Levonorgestrel อย่างเดียวจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดประมาณร้อยละ 58-89
            สำหรับประสิทธิภาพของการป้องกันการตั้งครรภ์โดยการใส่ห่วงอนามัยหลังการมีเพศสัมพันธ์มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ที่มากกว่าร้อยละ 99 พบว่าหญิงที่เคยคลอดบุตรมาก่อน จะสามารถใส่ห่วงอนามัยได้ง่ายกว่าเนื่องจากปากมดลูกมีลักษณะฉีกขวางออก ร่วมกับจะต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมมาก่อน จึงสามารถใส่ห่วงอนามัยได้อย่างถูกต้อง ทำให้การใช้ยาคุมกำเนิดแบบเม็ดได้รับความนิยมมากกว่าเนื่องจากไม่เสี่ยงต่อความเจ็บปวด สะดวกหาซื้อง่าย
            ถึงแม้ทั้งยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินและห่วงอนามัยจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างที่กล่าวมาแล้ว แต่วิธีดังกล่าวไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อ HIV เป็นต้น ดังนั้นต้องมีการป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ผ่านการใช้ถุงยางอนามัยด้วย นอกจากนี้หากต้องใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดโปรเจสเตอโรนขนาดสูงมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือนควรพิจารณาวิธีการคุมกำเนิดชนิดอื่น เช่น การกินยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมเป็นประจำทุกวัน การฉีดยาคุมกำเนิด การฝังยาคุม หรือการใส่ห่วงอนามัย เพื่อลดผลข้างเคียงและเพิ่มประสิทธิภาพการลดอัตราการตั้งครรภ์

References
1.      The American College of Obstetricians and Gynecologists. Emergency Contraception. Practice bulletin. 2015;152.
2.      Sangsawang N, Sangsawang B, Wisarapun P. Emergency contraception in adolescences. Journal of Medicine and Health Sciences. 2016;23(1).
3.      World Health Organization. Fact sheet: emergency contraception. Geneva: World Health Organization; 2016.


No comments:

Post a Comment