แอสไพรินกับฤทธิ์การต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่
นพ.สุรชัย
เล็กสุวรรณกุล1
นพ.ภาสกร
วันชัยจิระบุญ2
ผศ.ดร.ปิยนุช
วงศ์อนันต์1
1ภาควิชาเภสัชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง
โรงพยาบาลพระปกเกล้า
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่
4 ของโลก จากการศึกษาในปี พ.ศ. 2561 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ประมาณ
1,096,601 รายต่อปีทั่วโลก และเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตมนุษย์ถึง
551,269 รายต่อปีทั่วโลก1 ในประเทศไทยจากฐานข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่าในปี
พ.ศ. 2560 มีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากเป็นลำดับที่ 3 โดยพบถึง
435 รายต่อปี2 ดังนั้นจึงมีการศึกษาถึงการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นจำนวนมาก รวมถึงการใช้ยาแอสไพริน (aspirin) ซึ่งเป็นยาที่ใช้สำหรับป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดอุดตันในการป้องกันและรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย
แอสไพรินเป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านการแข็งตัวของเลือด
(non-steroidal anti-inflammatory; NSAIDs)3 โดยมีกลไกจากการยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) ทำให้ลดการสร้างสารต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการอักเสบหรือการแข็งตัวของเลือด
เช่น prostaglandin, prostacyclin และ thromboxane จากการศึกษาแบบสังเกตการณ์ (observational
study) พบว่าการรับประทาน NSAIDs เช่น
celecoxib และ sulindac สามารถช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้4
โดยมีสมมติฐานว่าเนื่องจากพยาธิสรีรวิทยาของมะเร็งลำไส้ใหญ่มีความสัมพันธ์กับเอนไซม์
COX-2 โดยเอนไซม์ดังกล่าวมีบทบาทต่อการเจริญเติบโต
การลุกลามแพร่กระจาย และการยับยั้งกระบวนการตายของเซลล์มะเร็ง อีกทั้งยังกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่มาเลี้ยงเซลล์มะเร็ง
ดังนั้นเมื่อมีการยับยั้งเอนไซม์ COX- 2 จึงส่งผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
จากการศึกษาทางคลินิกพบว่าการรับประทานยาแอสไพรินขนาด
325
มิลลิกรัมเป็นประจำทุกวันประมาณ 30-31 เดือน
สามารถช่วยลดอัตราการเกิดซ้ำของเนื้องอก (adenoma) ที่ลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อย่างมีนัยสำคัญ5
ดังนั้น National Comprehensive Cancer Network จึงแนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินขนาด
325 มิลลิกรัมทุกวันสำหรับการป้องกันแบบทุติยภูมิเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของมะเร็งลำไส้ใหญ่6
ในการป้องกันแบบปฐมภูมิในประชากรทั่วไป คณะทำงานพิเศษเพื่อการป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (USPSTF) ได้แนะนำให้ประชากรที่มีอายุ
50-59 ปีและมีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด 10 ปี อย่างน้อยร้อยละ 10 รับประทานยาแอสไพรินขนาดต่ำ
เพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่6 อย่างไรก็ตามผลการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีความขัดแย้งกัน
เช่น จากการศึกษา ASCEND พบว่าการรับประทานยาแอสไพรินขนาด
100 มิลลิกรัมทุกวัน เป็นระยะเวลาประมาณ 7.4 ปี ให้ผลในการป้องกันมะเร็งทางเดินอาหารได้ไม่แตกต่างจากยาหลอก
แต่เพิ่มอัตราการเกิดเลือดออกทางเดินอาหารมากกว่ายาหลอก7
ในขณะเดียวกันผลการศึกษาจาก ASPREE พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยาแอสไพรินขนาด
100 มิลลิกรัมทุกวัน เป็นระยะเวลา 5 ปี
จะเพิ่มการเกิดภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารและเพิ่มอัตราการตายจากโรคมะเร็ง8
นอกจากนี้การศึกษาการใช้ยาแอสไพรินในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบปฐมภูมิในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มอาการ
Lynch
ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อย
ยังให้ผลการศึกษาที่ขัดแย้งกัน กล่าวคือ ในการศึกษาช่วงปี ค.ศ. 2008
พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่รับประทานยาแอสไพรินขนาด 600 มิลลิกรัมต่อวัน
มีอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่รับประทานยาหลอก9
ในขณะที่การศึกษา CAPP2 ในปี ค.ศ. 2011
พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่รับประทานยาแอสไพรินขนาด 600 มิลลิกรัมต่อวัน
มีอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก10
เพราะฉะนั้นนอกจากผลการวิจัยถึงฤทธิ์ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ของยาแอสไพรินที่มีความขัดแย้งกันแล้ว
ยังพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาแอสไพริน เช่น เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
ในหลายการศึกษา ดังนั้นการจะใช้ยาแอสไพรินในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
โดยคำนึงถึงประโยชน์และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และควรจะมีการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ของการใช้ยาแอสไพรินในระยะยาวเพิ่มเติม
References
1. Bray
F, Ferlay J, Soerjomataram I, Siegel RL, Torre LA, Jemal A. Global
cancer statistics 2018: GLOBOCAN estimates of incidence
and mortality worldwide for 36 cancers in 185 countries. CA: a cancer journal for clinicians. 2018;68(6):394-424.
2. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ.
ทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล พ.ศ. 2560. กรุงเทพฯ: บริษัท พรทรัพย์การพิมพ์ จำกัด,
2561: 36-37.
3. Katzung
BG. Basic & Clinical Pharmacology.14
th edition. McGraw-Hill Education
2018.
4.
Koehne CH, Dubois RN. COX-2 inhibition and colorectal cancer. Seminars in oncology. 2004;31(2 Suppl 7):12-21.
5. Sandler
RS, Halabi S, Baron JA, Budinger S, Paskett E, Keresztes R, et al.
A randomized trial of aspirin to prevent colorectal adenomas in patients
with previous colorectal cancer. The New England journal
of medicine. 2003;348(10):883-90.
6. National Comprehensive Cancer Network (NCCN). NCCN Clinical Practice Guidelines
in Oncology. Colon Cancer Version 2.2019. 2019 May 15; National Comprehensive Cancer Network. Abstract available at https://www.nccn.org/professionals/physician_gls/pdf/colon.pdf
7.
Bowman L, Mafham M, Wallendszus
K, Stevens W, Buck G, Barton J, et al. Effects of Aspirin
for Primary Prevention in Persons with Diabetes Mellitus. The
New England journal of medicine. 2018;379(16):1529-39.
8.
McNeil JJ, Nelson MR, Woods RL,
Lockery JE, Wolfe R, Reid CM, et al. Effect of Aspirin on
All-Cause Mortality in the Healthy Elderly. The
New England journal of medicine. 2018;379(16):1519-28.
9.
Burn
J, Bishop DT, Mecklin JP, Macrae F, Moslein G, Olschwang S, et al.
Effect of aspirin or resistant starch on colorectal neoplasia in the Lynch
syndrome. The New England journal of medicine. 2008;359(24):2567-78.
10. Burn
J, Gerdes AM, Macrae F, Mecklin JP, Moeslein G, Olschwang S, et al. Long-term effect of aspirin on cancer
risk in carriers of hereditary colorectal cancer: an
analysis from the CAPP2 randomised controlled trial. Lancet
(London, England). 2011;378(9809):2081-7.
No comments:
Post a Comment