Monday, August 31, 2020

“ไข้หวัดใหญ่” เรื่องใหญ่ที่ป้องกันได้

 

ไข้หวัดใหญ่” เรื่องใหญ่ที่ป้องกันได้

นพ.สุรชัย เล็กสุวรรณกุล
อ.นพ.นพดล วัชระชัยสุรพล

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อโรคในมนุษย์ที่พบบ่อย ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอและบี (Influenza A, B) อาการของโรคไข้หวัดใหญ่มักคล้ายกับอาการของโรคหวัดทั่วไป ได้แก่ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ แต่มักมีไข้สูงกว่าและมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดเมื่อยตามร่างกาย ในเด็กเล็กอาจมีเฉพาะอาการไข้สูงโดยไม่มีอาการไอน้ำมูก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการประมาณ 3-7 วันและมักหายได้เอง ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ชักจากไข้สูง (มักพบในเด็กเล็ก) เนื้อสมองอักเสบ ปอดอักเสบ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ได้รับยาเคมีบำบัด สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ในประเทศไทยพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่สองช่วง ได้แก่ ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมซึ่งเป็นการระบาดช่วงแรก ในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมจะเป็นการระบาดช่วงที่สองและมักพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก มีการคาดการณ์ว่าหากการระบาดช่วงแรกพบผู้ป่วยจำนวนมาก การระบาดในช่วงฤดูฝนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2562 (1 ม.ค. ถึง 1 ก.ค.) พบผู้ป่วยแล้วทั้งสิ้น 186,818 ราย ซึ่งมากกว่าผู้ป่วยในปี 2561 ตลอดทั้งปีที่พบทั้งสิ้น 185,829 ราย จึงคาดการณ์ได้ว่าโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูฝนปีนี้จะมีการระบาดที่รุนแรงมาก

การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ อาจพิจารณารักษาตามอาการในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงและไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหรืออาจพิจารณาให้ยาต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่เมื่อมีข้อบ่งชี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดโรครุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนควรได้รับยาต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่ทุกราย การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนที่จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคได้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่มีความปลอดภัยสูง วัคซีนชนิดเชื้อตายในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิด 3 สายพันธุ์ (เอ 2 และบี 1 สายพันธุ์) และ 4 สายพันธุ์ (เอ 2 และบี 2 สายพันธุ์) สายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ในวัคซีนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการคาดการณ์การระบาดในแต่ละปีโดยองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้กำหนด ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 9 ปี ปีแรกที่รับวัคซีนควรฉีด 2 ครั้งห่างกันประมาณ 1 เดือน เด็กอายุมากกว่า 9 ปีและผู้ใหญ่ควรฉีดวัคซีนปีละครั้ง อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่พบได้ เช่น อาการเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน อาการไข้ โดยอาการไข้มักเกิดในช่วง 1-2 วันแรกหลังรับวัคซีน อาจพบอาการไข้ได้ 10-35% ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี การติดตามอาการไข้และให้การรักษาอย่างเหมาะสม ได้แก่ การรับประทานยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้จะช่วยบรรเทาอาการได้มาก

กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหาวัคซีนให้แก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดโรครุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
o ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
o เด็กอายุ 6 เดือนถึงไม่เกิน 3 ปี
o สตรีมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์เกิน 4 เดือน
o ผู้พิการทางสมองที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
o โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
o ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัมหรือมีดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 35 กก.ต่อ ตร.ม.
o ผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้แก่ โรคปอดเรื้อรังรวมถึงโรคหืด โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด
นอกจากกลุ่มเสี่ยงข้างต้นแล้วยังแนะนำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เช่นกัน ได้แก่
o บุคลากรทางการแพทย์
o ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ
o ผู้ที่ใกล้ชิดกับทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน
o เด็กที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
o ผู้ที่ใกล้ชิดหรืออยู่บ้านเดียวกับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีหรือเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
o สตรีที่ตั้งครรภ์อยู่ สตรีที่คาดว่าจะตั้งครรภ์ สตรีที่คลอดบุตรมาไม่นานและสตรีให้นมบุตร
         ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับกลุ่มเสี่ยงทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 8.30-15.00 น. ที่อาคาร ภปร. ชั้น 16 ฝ่ายเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ภปร. ชั้น 15 สำหรับหญิงตั้งครรภ์ และ ภปร. 9 สำหรับเด็ก

References
1. American Academy of Pediatrics. Influenza. In: Kimberlin DW, Brady MT, Jackson MA, Long SS, editors. Red Book: 2018 Report of the Committee on Infectious Diseases. 31 ed. Itasca, IL: American Academy of Pediatrics; 2018. p. 476-90.
2. Bureau of Epidemiology, Department of Disease Control, Ministry of Public Health, Thailand. National Disease Surveillance (Report 506): Influenza [Internet]. 2019 [cited 2019 Jul 10]. Available from:
http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/506wk/…/d15_5261.pdf
3. Bureau of Epidemiology, Department of Disease Control, Ministry of Public Health, Thailand. National Disease Surveillance (Report 506): Influenza 2019 [Internet]. 2019 [cited 2019 Jul 10]. Available from:
http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/506wk/…/d15_2562.pdf

4. Uyeki TM, Bernstein HH, Bradley JS, Englund JA, File TM, Fry AM, et al. Clinical Practice Guidelines by the Infectious Diseases Society of America: 2018 Update on Diagnosis, Treatment, Chemoprophylaxis, and Institutional Outbreak Management of Seasonal Influenza. Clin Infect Dis 2019;68: 895-902.
5. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร. การให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่. ใน: พจมาน พิศาลประภา, สราวุฒิ ศิวโมกษธรรม, กิตติศักดิ์ สวรรยาวิสุทธิ์, ธันยชัย สุระ, บรรณาธิการ. กลยุทธ์การบริบาลผู้ป่วยนอก. กรุงเทพฯ: หจก. เทพเพ็ญวานิสย์, 2560: 31-70.

No comments:

Post a Comment