Monday, October 12, 2020

จำเป็นต้องกินแคลเซียมเสริมหรือไม่ (Do we need calcium supplement?) 10 คำถามเกี่ยวกับแคลเซียม

 

จำเป็นต้องกินแคลเซียมเสริมหรือไม่ (Do we need calcium supplement?)

10 คำถามเกี่ยวกับแคลเซียม

นพ.สุวิวัฒน์ บุนนาค

ผศ.ดร.พญ.วรรณรัศมี เกตุชาติ

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำถามที่ 1: แคลเซียมคืออะไร

            แคลเซียม (Calcium) เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งในร่างกาย คิดเป็น 1.9% ของน้ำหนักร่างกาย โดยจากปริมาณแคลเซียมทั้งหมดประมาณร้อยละ 98-99 อยู่ในกระดูกและอยู่รูปของไฮดรอกซีอะพาไทต์ (hydroxyapatite) ส่วนอีกประมาณ 1% จะอยู่ที่ฟันและเนื้อเยื่อต่าง ๆ มีเพียง 0.1% เท่านั้นที่อยู่ในเลือดและสารน้ำนอกเซลล์ (Extracellular fluid: ECF) โดยจะมีบางส่วนที่จับกับโปรตีนในเลือด หน้าที่หลักของแคลเซียมคือการรักษาความแข็งแรงของกระดูก นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ การหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อและหลอดเลือด1,4

            เราได้รับแคลเซียมจากการรับประทานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นจากอาหารหรือจากแคลเซียมเม็ดเสริมก็ตาม ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ที่ลำไส้เล็กได้ประมาณร้อยละ 30 เพื่อเข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้แคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือดได้จากการสลายของกระดูกอีกด้วย แคลเซียมถูกขับออกที่ทางเดินอาหาร ขับออกทางไต หรือผ่านผิวหนัง และสามารถเข้าสู่กระดูกเพื่อเป็นโครงร่างของกระดูกได้ แคลเซียมยังสามารถแพร่เข้าออกในและนอกเซลล์รวมถึงระหว่างเซลล์เพื่อเป็นการติดต่อสื่อสารต่าง ๆ ได้1

คำถามที่ 2: เราต้องได้รับแคลเซียมปริมาณเท่าไรต่อหนึ่งวัน

โดยปกติแล้วเราจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมในแต่ละวันแตกต่างออกไปตามอายุ จากปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 ปริมาณแคลเซียมที่คนไทยควรได้รับเป็นดังตารางต่อไปนี้4

อายุ

ปริมาณแคลเซียม (มิลลิกรัม)

< 6 เดือน

210

6-12 เดือน

260

1-3 ปี

500

4-8 ปี

800

9-18 ปี

1,000

19-50 ปี

800

> 50 ปี

1,000


ตารางที่
1: ตารางแสดงปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับในแต่ละวันแตกต่างออกไปตามอายุ4


คำถามที่ 3: เมื่อไรต้องกินแคลเซียมเพิ่ม

สำหรับประชากรทุกอายุ แนะนำให้ได้รับแคลเซียมจากอาหารเป็นหลัก หากได้รับไม่เพียงพอหรือมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลเซียมในแต่ละวันจึงพิจารณาให้กินแคลเซียมแบบเม็ดเสริม4 โดยข้อบ่งชี้ที่ต้องกินแคลเซียมแบบเม็ดเสริมอาจพิจารณาได้จากข้อบ่งชี้ คือ หญิงตั้งครรภ์ ป้องกันภาวะกระดูกพรุน ผู้ที่ตัดต่อมพาราไทรอยด์ และคนที่เป็นโรคไต ในบทความนี้จะกล่าวถึงหญิงตั้งครรภ์และการป้องกันภาวะกระดูกพรุนเป็นหลัก

คำถามที่ 4: หญิงตั้งครรภ์ต้องได้รับแคลเซียมเท่าไร

            ทารกในครรภ์จำเป็นต้องได้รับแคลเซียมประมาณ 30 กรัม คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของปริมาณแคลเซียมในร่างกายมารดา       โดยแคลเซียมส่วนมากจะนำไปใช้สำหรับการสร้างกระดูกของทารก3 และจะนำไปเก็บในตัวทารกในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งทารกจะเก็บแคลเซียมไว้ประมาณ 240 มิลลิกรัมต่อวัน13

มีการรวบรวมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการได้รับแคลเซียมในหญิงตั้งครรภ์ พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอ (น้อยกว่า 500 มิลลิกรัมต่อวัน) อาจมีความเสี่ยงที่กระดูกจะถูกทำลายระหว่างการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากได้รับแคลเซียมเสริมจะช่วยให้มารดาและทารกได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับแคลเซียมเพียงพอจากอาหารอาจไม่จำเป็นต้องได้รับแคลเซียมเสริมเนื่องจากไม่ได้ประโยชน์เพิ่มเติม2

องค์การอนามัยโลก (WHO) และ Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับแคลเซียม 1200 มิลลิกรัมต่อวัน หากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพออาจส่งผลต่อทั้งมารดาและทารก เช่น อาการชา ตะคริว การเจริญเติมโตของทารกช้าลง ทารกตัวเล็กลง เป็นต้น1

คำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า สำหรับกลุ่มประชากรที่ได้รับแคลเซียมในปริมาณน้อย แนะนำให้เพิ่มการกินแคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยแนะนำให้ได้รับแคลเซียม 1.5-2 กรัมของแคลเซียมต่อวัน แบ่งออกเป็นสามครั้ง กินพร้อมอาหาร เริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนสิ้นสุดการตั้งครรภ์ สำหรับปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับนั้น แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน อาจพิจารณาว่าไม่ควรได้รับเกิน 3 กรัมต่อวัน6

ส่วนใหญ่หญิงตั้งครรภ์มักจะได้รับธาตุเหล็กเสริมด้วยระหว่างการตั้งครรภ์ พบว่าหากได้รับธาตุเหล็กพร้อมกับแคลเซียม อาจทำให้ธาตุเหล็กที่ควรได้นั้นลดลงไป5 แต่ผลความแตกต่างนี้ยังไม่ชัดเจนนักในแต่ละกลุ่มอายุ จึงมีคำแนะนำว่าธาตุเหล็กควรกินในช่วงท้องว่าง ส่วนแคลเซียมควรกินพร้อมกับอาหารเพื่อเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย6


คำถามที่ 5: แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน เกี่ยวข้องกันอย่างไร

            ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวไว้ว่า โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือโรคกระดูกที่เกิดขึ้นทั่วร่างกายที่ส่งผลให้กระดูกแตกหักและเปราะง่าย โดยร่างกายมีมวลกระดูกต่ำ และมีการเสื่อมของโครงสร้างระดับจุลภาคของกระดูก16 เนื่องจากแคลเซียม วิตามินดีและวิตามินเค เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างและซ่อมแซมกระดูก การป้องกันโรคกระดูกพรุนในส่วนของแคลเซียมนั้นมีคำแนะนำให้รับประทานจากอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันมากกว่าการรับประทานแคลเซียมเสริม17

            สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน ควรได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอคู่กับวิตามินดี เนื่องจากมีหลักฐานว่าแคลเซียมและวิตามินดีสามารถป้องกันกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนได้ โดยมีคำแนะนำว่าควรได้รับแคลเซียมผ่านทางการรับประทานอาหารเป็นหลักเนื่องจากปลอดภัย ราคาไม่แพง หากได้รับจากอาหารไม่เพียงพอควรพิจารณาการกินแคลเซียมเม็ดเพิ่มเติม ผู้ชายอายุ 50-70 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800-1000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้หญิงอายุมากกว่า 51 ปีขึ้นไปและผู้ชายที่อายุมากกว่า 71 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียม 1000 มิลลิกรัมต่อวัน17

สำหรับผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว การเกิดโรคกระดูกพรุนเป็นสิ่งที่เกิดตามมาได้บ่อย โดยผู้หญิงที่หมดประจำเดือน 1 ใน 2 คนจะมีโอกาสกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน มีคำแนะนำว่าสำหรับผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก โดยเฉพาะในคนที่เคยกระดูกหักมาก่อนหน้านี้ ควรได้รับการรักษาด้วยยาที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูกหรือลดการสลายกระดูก และในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนที่มีมวลกระดูกต่ำ (low bone mass density) ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน นอกจากควรได้รับการรักษาด้วยยาแล้ว ควรได้รับแคลเซียมและวิตามินดีเสริมด้วย18

คำถามที่ 6: กินแคลเซียมเสริมแล้วมีผลเสียหรือไม่

            สำหรับผลเสียของการได้รับแคลเซียมเสริมนั้นมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องอยู่ มีการรวบรวมการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า การได้รับแคลเซียมไม่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน แต่ในหญิงที่หมดประจำเดือนที่ยังไม่เป็นโรคกระดูกพรุน พบว่ามีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วได้ในระยะยาว7 บางการศึกษานั้นแสดงให้เห็นถึงผลเสียทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่นการศึกษาของ Anderson et al พบว่าเมื่อทำการติดตามผู้ป่วยไป 10 ปีหลังจากที่ได้รับแคลเซียม พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของการแข็งตัวของผนังหลอดเลือด11 แต่ผลการศึกษาอื่น ๆ นั้นยังไม่ชัดเจนนักและต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเนื่องจากขั้นตอนการศึกษานั้นค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือได้น้อย8,9,10 โดยรวมแล้วยังต้องการข้อมูลจากการศึกษาอื่น ๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลของแคลเซียมต่อภาวะท้องผูกในผู้หญิง พบว่าแคลเซียมไม่ได้ทำให้เกิดลักษณะของอุจจาระหรือความถี่ของการถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่การศึกษาดังกล่าวใช้จำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาไม่มากนัก12 และมีการศึกษาที่รายงานว่าอาการข้างเคียงทางระบบทางเดินอาหารที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการกินยาที่ไม่สม่ำเสมอ14 อาการทางระบบทางเดินอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการรวบรวมการศึกษาที่เกี่ยวข้อง นอกจากภาวะท้องผูก ยังพบว่ามีอาการปวดท้อง ท้องอืด ถ่ายเหลว เป็นต้น15

คำถามที่ 7: เม็ดแคลเซียมที่มีอยู่ปัจจุบัน มีแคลเซียมอยู่มากน้อยเพียงใด

ยาเม็ดแคลเซียม มีปริมาณแคลเซียมแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้4

Ø แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) มีปริมาณแคลเซียมร้อยละ 40

Ø แคลเซียมแลคเตท (Calcium lactate) มีปริมาณแคลเซียมร้อยละ 13

Ø แคลเซียมกลูโคเนท (Calcium gluconate) มีปริมาณแคลเซียมร้อยละ 9

Ø แคลเซียมแลคเตท กลูโคเนท (Calcium lactate gluconate) มีปริมาณแคลเซียมร้อยละ13.2

ในแนวทางปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน การให้แคลเซียมรูปแบบเม็ดมักจะเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) เนื่องจากมีปริมาณแคลเซียมสูง มีประสิทธิภาพและคุ้มต้นทุน (Cost-effective)17 การรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนตควรรับประทานพร้อมอาหารเนื่องจากขณะรับประทานอาหาร กระเพาะอาหารจะหลั่งกรด ซึ่งแคลเซียมคาร์บอเนตดูดซึมได้ดีในภาวะที่เป็นกรด

คำถามที่ 8: อาหารที่มีแคลเซียมสูงมีอะไรบ้าง

จากข้อมูลของคณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย4 กล่าวรายละเอียดเกี่ยวกับอาหารที่มีแคลเซียมสูงไว้โดยสรุปว่า นมเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดี เพราะมีปริมาณแคลเซียมสูงและดูดซึมได้ดีมาก นอกจากนมแล้ว แหล่งอาหารทางเลือกอื่น ๆ ที่มีแคลเซียมสูงส่วนใหญ่ที่นิยมบริโภคคือปลาตัวเล็กที่บริโภคทั้งตัว กุ้งแห้ง เต้าหู้ หรือผักใบเขียวที่มีแคลเซียมปานกลางถึงสูงและมีปริมาณของออกซาเลต (oxalate) ต่ำ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ขี้เหล็ก ตำลึง บัวบก ถั่วพู เป็นต้น

กลุ่มพืชเมล็ด ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้งและงา ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ มีแคลเซียมอยู่ปานกลางถึงสูงแตกต่างกันไป แต่นอกจากแคลเซียมแล้วยังมีสารไฟเตท (phytate) ซึ่งเป็นสารที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมโดยสารไฟเตทจะจับตัวกับแคลเซียมเป็นก้อนใหญ่ ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้19 อย่างไรก็ตามแคลเซียมจากถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดงยังสามารถใช้เป็นแหล่งอาหารที่มีแคลเซียมสูงได้ แม้จะไม่เท่ากับนมก็ตาม ส่วนนมถั่วเหลือง มีปริมาณแคลเซียมลดลงเนื่องจากจะสูญเสียแคลเซียมไปในกากถั่วเหลืองซึ่งเป็นจากกระบวนการผลิต จึงมีการเติมแคลเซียมลงไปในนมถั่วเหลืองบางยี่ห้อเพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียมที่จะถูกดูดซึม

กลุ่มผักใบเขียวที่มีแคลเซียมสูงต้องมีปริมาณของออกซาเลตต่ำ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ขี้เหล็ก ตำลึง บัวบก ถั่วพู เนื่องจากออกซาเลตจะจับตัวกับแคลเซียมเกิดเป็นคริสตัล และจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย20

อาหารที่มีแคลเซียมสูง (เกิน 50 มิลลิกรัมต่อ100 กรัม) ได้แก่ รำข้าว กลอย มันเทศ สาคูเม็ด งาดำ งาขาว ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เต้าหู้ทุกชนิด รวมทั้งฟองเต้าหู้ ถั่วแขก ถั่วแดง ถั่วด ถั่วแปบ ถั่วพู ถั่วฝักยาว ถั่วแระ ถั่วลิสง ถั่วหรั่ง ถั่วเหลือง เมล็ดดอกคำฝอย เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดบัว เมล็ดหางนกยูงฝรั่ง เมล็ดอัลมอนด์ มันฮ่อ เป็นต้น สำหรับสัตว์ที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็กที่บริโภคทั้งตัว หรือกุ้งแห้งซึ่งมีแคลเซียมที่เปลือก โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในตารางที่ 2

 

อาหาร

ปริมาณอาหารที่บริโภค

ปริมาณแคลเซียม (มิลลิกรัม)

น้ำนม

1 กล่อง (250 มิลลิลิตร)

290-300

นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม

1 กล่อง (250 มิลลิลิตร)

250-300

โยเกิร์ตรสธรรมชาติขาดไขมัน

1 ถ้วย

157

นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม

1 กล่อง (180 มิลลิตร)

106

ไอศกรีมผสมน้ำนม

1 ก้อน (65 กรัม)

83

ไอศกรีมผสมน้ำนมไขมันต่ำ

1 ก้อน (65 กรัม)

90

ไข่ไก่ทั้งฟอง

1 ฟอง (50 กรัม)

63

ไข่เป็ดทั้งฟอง

1 ฟอง (60 กรัม)

93.6

เต้าหู้อ่อน

5 ช้อนโต๊ะ

150

เต้าหู้แข็ง

2 ช้อนโต๊ะ

32

ปลาตัวเล็ก

2 ช้อนโต๊ะ

226

ปลาซาร์ดีนกระป๋อง

2 ช้อนโต๊ะ

90

กุ้งแห้ง

1 ช้อนโต๊ะ

138

ผักคะน้า (ผัด)

1 ขีด (100 กรัม)

245

บรอกโคลี

2/3 ถ้วย

88

ตำลึง ใบ ยอดอ่อน

1 ขีด (100 กรัม)

126

ยอดแค

½ ขีด (50 กรัม)

198

ใบหยอ (ห่อหมก)

½ ขีด (50 กรัม)

420

ถั่วแระต้ม

1 ขีด (100 กรัม)

194

อินทผาลัม

3 ลูก

80

งาดำ

1 ช้อนโต๊ะ

132

ตารางที่ 2: ตัวอย่างอาหารไทยที่เป็นแหล่งสคัญของแคลเซียม

(ตารางจาก ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 (Dietary Reference Intake for Thais 2020). สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2563.4)


คำถามที่ 9: ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการดูดซึมของแคลเซียม

ปัจจัยที่เพิ่มการดูดซึมแคลเซียม

Ø การรับประทานอาหารบ่อย ๆ จะช่วยเพิ่มการดูดซึมของแคลเซียม14

Ø วิตามินดี

Ø อาหารที่มีโปรตีน22

Ø รูปแบบของเม็ดแคลเซียม

ปัจจัยที่ลดการดูดซึมของแคลเซียม

Ø อาหารที่มีโซเดียมสูง เนื่องจากโซเดียมจะเพิ่มการขับออกของแคลเซียมทางปัสสาวะ โดยโซเดียมจะถูกดูดกลับแทนที่กับแคลเซียมที่ไต1,22

Ø สารที่จับกับแคลเซียมได้ เช่น เซลลูโลส ฟอสเฟต ออกซาเลต14,19 ไฟเตท4,20 แทนนิน (พบในใบชา กล้วยดิบ เปลือกและเมล็ดผลไม้ ไวน์แดง)22 ทำให้แคลเซียมไม่ถูกดูดซึม

Ø ธาตุเหล็ก6,22 แต่กลไกที่ทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลงนั้นยังไม่ทราบชัดเจน22

Ø คาเฟอีน21 เช่น ชา กาแฟ เนื่องจากทำให้แคลเซียมถูกขับออกทางปัสสาวะมากขึ้น

Ø แอลกอฮอล์21

คำถามที่ 10: จำเป็นต้องกินแคลเซียมเสริมหรือไม่

            สำหรับคนทั่วไป คนที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ไม่ได้ตั้งครรภ์ ไม่มีความจำเป็นต้องกินแคลเซียมเสริมหากสามารถรับประทานจากอาหารได้ในปริมาณที่เพียงพอ โดยสามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมจากตัวอย่างอาหารในคำถามที่ 8 นอกจากนี้ หากได้รับแคลเซียมมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียตามที่กล่าวมาแล้วในคำถามที่ 6 หากต้องการแคลเซียมเพื่อเป็นการเสริมกระดูก สามารถออกกำลังกายโดยมีการลงน้ำหนักที่ขา (Weight bearing exercise) โดยหากทำต่อเนื่อง 9-12 เดือน จะสามารถลดการสูญเสียมวลกระดูกในหญิงที่หมดประจำเดือนได้17 ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนหรือหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ในการรับประทานแคลเซียมเสริม

  

References

1.      World Health Organization, Food and Agricultural Organization of the United Nations. Vitamin and mineral requirements in human nutrition, 2nd ed. Geneva, World Health Organization, 2004 (http://www.who.int/nutrition/publications/micronutrients/9241546123/en/index.html, accessed 9 Sep 2020).

2.      Hacker AN, Fung EB, King JC. Role of calcium during pregnancy: maternal and fetal needs. Nutrition reviews. 2012;70(7):397-409.

3.      Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Spong CY, Dashe JS, Hoffman BL, et al. Williams Obstetrics, 25th Edition. McGraw-Hill Education; 2018.

4.      คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 (Dietary Reference Intake for Thais 2020). สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2563.

5.      Lönnerdal B. Calcium and iron absorption--mechanisms and public health relevance. Int J Vitam Nutr Res. 2010;80(4-5):293-299.

6.      World Health Organization. Guideline: Calcium supplementation in pregnant women. Geneva, World Health Organization, 2013.

7.      Kozyrakis D, Paridis D, Karatzas A, Soukias G, Dailiana Z. Do Calcium Supplements Predispose to Urolithiasis?. Curr Urol Rep. 2017;18(3):17.

8.      Shin CS, Kim KM. Calcium, Is It Better to Have Less?--Global Health Perspectives. J Cell Biochem. 2015;116(8):1513-1521.

9.      Ströhle A, Hadji P, Hahn A. Calcium and bone health--goodbye, calcium supplements?. Climacteric. 2015;18(5):702-714.

10.   Heaney RP, Kopecky S, Maki KC, Hathcock J, Mackay D, Wallace TC. A review of calcium supplements and cardiovascular disease risk. Adv Nutr. 2012;3(6):763-771.

11.   Anderson JJ, Kruszka B, Delaney JA, et al. Calcium intake from diet and supplements and the risk of coronary artery calcification and its progression among older adults: 10year followup of the MultiEthnic Study of Atherosclerosis (MESA). J Am Heart Assoc. 2016;10:5(10).

12.   Alyousif Z, Ford AL, Dahl WJ. Calcium Supplementation Does Not Contribute to Constipation in Healthy Women. Can J Diet Pract Res. 2016;77(2):103-105.

13.   American Academy of Pediatrics Committee on Nutrition. Calcium requirements in infancy and childhood. Pediatrics, 1978, 62:826–832.

14.   Peacock M. Calcium metabolism in health and disease. Clin J Am Soc Nephrol. 2010;5 Suppl 1:S23-S30.

15.   Lewis JR, Zhu K, Prince RL. Adverse events from calcium supplementation: relationship to errors in myocardial infarction self-reporting in randomized controlled trials of calcium supplementation. J Bone Miner Res 2012; 27: 719–22.

16.   World Health Organization. Assessment of fracture risk and its application to screening for postmenopausal osteoporosis. No. 843 of technical reports series. Geneva, 1994

17.   Songpatanasilp T, Sritara C, Kittisomprayoonkul W, Chaiumnuay S, Nimitphong H, Charatcharoenwitthaya N, et al. Thai Osteoporosis Foundation (TOPF) position statements on management of osteoporosis. Osteoporosis and Sarcopenia 2. 2016; 191-207.

18.   Eastell R, Rosen CJ, Black DM, Cheung AM, Murad MH, Shoback D. Pharmacological Management of Osteoporosis in Postmenopausal Women: An Endocrine Society Clinical Practice Guideline. J Clin Endocrinol Metab. 2019;104(5):1595-1622.

19.   Gibson RS, Bailey KB, Gibbs M, Ferguson EL. A review of phytate, iron, zinc, and calcium concentrations in plant-based complementary foods used in low-income countries and implications for bioavailability. Food Nutr Bull. 2010;31(2 Suppl):S134-S146.

20.   Caballero B, Finglas PM, Toldrá F. Encyclopedia of Food and Health. Elsevier. 2016

21.   Theobald HE, Dietary calcium and health. Nutrition Bulletin. 2005;30: 237-277.

22.   Wongdee K, Rodrat M, Teerapornpuntakit J, Krishnamra N, Charoenphandhu N. Factors inhibiting intestinal calcium absorption: hormones and luminal factors that prevent excessive calcium uptake. J Physiol Sci. 2019;69(5):683-696.

 

 

No comments:

Post a Comment