ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดกับทฤษฎีการเรียนรู้
นพ.สุรชัย
เล็กสุวรรณกุล
ผศ.ดร.ปิยนุช วงศ์อนันต์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด
เป็นผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่พบบ่อยทั้งแบบฉับพลันและแบบเกิดขึ้นในภายหลัง
อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยบางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดก่อนที่จะได้รับยาเคมีบำบัดในรอบการรักษาถัดไป
ซึ่งเรียกว่าภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่เกิดจากการเรียนรู้ (anticipatory
nausea and vomiting) โดยพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งมากกว่าร้อยละ 30
ที่เกิดภาวะดังกล่าว ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างจากภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆ
และสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มพฤติกรรมนิยมของ Ivan Pavlov
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค
(classical
conditioning)
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขเป็นทฤษฎีในกลุ่มแนวคิดพฤติกรรมนิยม
ที่สามารถอธิบายกลไกในการเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่เกิดจากการเรียนรู้
คิดค้นโดย Ivan Pavlov นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งสนใจในพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยา
(reflex) ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ
โดยพบว่าสุนัขจะมีการหลั่งน้ำลายเมื่อเห็นอาหาร อย่างไรก็ตาม Ivan Pavlov ยังพบว่าสุนัขสามารถหลั่งน้ำลายได้จากสิ่งเร้าอื่นๆ เช่น
เห็นคนที่ให้อาหาร ได้ยินเสียงกระดิ่งก่อนการให้อาหาร เป็นต้น
จึงได้ทำการทดลองโดยในครั้งแรกเมื่อสุนัขเห็นอาหาร (unconditioned stimuli) จะมีการหลั่งน้ำลาย (unconditioned response) หลังจากนั้นจึงนำอาหารมาให้สุนัขพร้อมกับเสียงกระดิ่ง
(neutral stimuli) เพื่อให้สุนัขเกิดการเรียนรู้จากการวางเงื่อนไข
และท้ายที่สุดเพียงแค่สุนัขได้ยินเสียงกระดิ่ง โดยไม่มีอาหาร (conditioned
stimuli) ก็จะตอบสนองด้วยการหลั่งน้ำลาย (conditioned
response)
การเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่เกิดจากการเรียนรู้มีความสอดคล้องกับทฤษฎีการวางเงื่อนไข
โดยพบว่า เข็มฉีดยาไม่ทำให้เกิดอาการอาเจียน แต่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเนื่องจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด
(ภาพ ก) เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด
ผู้ป่วยจะมีการเรียนรู้จากการวางเงื่อนไข
โดยเรียนรู้ว่าเข็มฉีดยาก็ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ (ภาพ ข) และในครั้งต่อไปของการให้ยา
เมื่อผู้ป่วยเห็นเข็มฉีดยา โดยยังไม่ได้รับยาเคมีบำบัดจะเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
(ภาพ ค)
การป้องกันและรักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่เกิดจากการเรียนรู้
เนื่องจากภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่เกิดจากการเรียนรู้เกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดมาก่อนหน้าแล้ว
ดังนั้นการป้องกันภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่เกิดจากการเรียนรู้ที่ดีที่สุดจึงเป็นการใช้ยาต้านอาเจียนที่เหมาะสม
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนในทุกครั้งของการให้ยา ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่เกิดจากการเรียนรู้สามารถรักษาโดยการให้ยาคลายกังวลในกลุ่ม
benzodiazepine เป็นต้น ในขณะที่การแพทย์ทางเลือก เช่น
การฝังเข็ม ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าว
อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Chan A, Kim HK, Hsieh RK, Yu S, de Lima Lopes G
Jr, Su WC, Baños A, Bhatia S, Burke TA, Keefe DM. Incidence and predictors of
anticipatory nausea and vomiting in Asia Pacific clinical practice--a
longitudinal analysis. Support Care Cancer. 2015 Jan;23(1):283-91. doi:
10.1007/s00520-014-2375-0. Epub 2014 Aug 13. PMID: 25112561.
2. Driscoll
MP. Psychology of learning for instruction, 3rd ed. Chapter 1: Introduction to theories of
learning and instruction. Harlow: Pearson,
2005
3. Kamen C, Tejani MA, Chandwani K, Janelsins M,
Peoples AR, Roscoe JA, Morrow GR. Anticipatory nausea and
vomiting due to chemotherapy. Eur J Pharmacol. 2014 Jan 5;722:172-9. doi: 10.1016/j.ejphar.2013.09.071. Epub 2013 Oct
21. PMID: 24157982; PMCID: PMC3880638.
4. Roscoe JA, Morrow GR, Aapro MS, Molassiotis A,
Olver I. Anticipatory nausea and vomiting. Support
Care Cancer. 2011 Oct;19(10):1533-8. doi: 10.1007/s00520-010-0980-0. Epub 2010 Aug 30. PMID: 20803345;
PMCID: PMC3136579.
No comments:
Post a Comment