Weight loss medications
การใช้ยาลดความอ้วนไม่มีความจำเป็นในคนปกติทั่วไป
นพ.นิธีร์ รัตน์ประสาทพร
ภาควิชาเภสัชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำแนะนำ
·
การปรับพฤติกรรมควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นวิธีที่จำเป็นต้องทำเพื่อการควบคุมน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพ
โดยน้ำหนักตัวน้อยไม่ได้หมายความว่ามีสุขภาพที่ดีเสมอไป
·
ยาลดน้ำหนัก
มีข้อบ่งชี้เฉพาะผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ
30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมี BMI มากกว่าหรือเท่ากับ
27 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับโรคอ้วน
ที่ลดน้ำหนักไม่ได้ผลหลังจากปรับพฤติกรรม ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย เท่านั้น
รายละเอียด
ในปัจจุบัน ภาวะโรคอ้วนเป็นภาวะที่พบมากขึ้นในสังคมไทยและทั่วโลก
โดยการรักษานั้น สิ่งสำคัญที่ที่สุดที่ต้องทำคือ การปรับพฤติกรรม การควบคุมอาหาร
และการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการควบคุมน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพที่งานวิจัยส่วนมากชี้ไปในทางเดียวกัน
แต่ปัจจุบัน การใช้ยาลดความอ้วนเป็นสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้น โดยมักพบในวัยหนุ่มสาวที่ทำตามกระแสนิยมอยากผอมหรืออยากกำจัดไขมันส่วนเกินในร่างกายโดยพยายามหาทางลัดและหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการควบคุมอาหาร
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ยาลดความอ้วนนั้น มีข้อบ่งชี้ในการใช้ที่ระบุเฉพาะผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย
(Body
Mass Index; BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ที่ลดน้ำหนักไม่ได้ผลหลังจากปรับพฤติกรรม
ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมี BMI มากกว่าหรือเท่ากับ
27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรร่วมกับมีโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับโรคอ้วน เท่านั้น ไม่ได้เอาไว้ในสำหรับผู้ที่อยากผอมหรือลดไขมันส่วนเกินที่มี
BMI น้อยกว่านี้
ยาที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US-FDA) อนุมัติในปัจจุบันนั้น
มีเพียง Orlistat (Xenical), lorcaserin (Belviq), phentermine-topiramate
(Qsymia), naltrexone-bupropion (Contrave) และ liraglutide
(Saxenda) เท่านั้น โดยได้ถอน sibutramine และ
fenfluramine ออกไปแล้ว
เนื่องจากผู้ใช้อาจเกิดอันตรายจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
โดยยาที่นิยมใช้เป็นตัวแรก คือ orlistat หรือ
lorcaserin ส่วนยา liraglutide หรือ
phentermine-topiramate เป็นยาที่อาจเลือกใช้เป็นลำดับต่อมาเพราะมีผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายได้มากกว่า
ซึ่งยาลดน้ำหนักนั้น ควรได้รับการจ่ายจากแพทย์เท่านั้น ไม่ควรพยายามหาซื้อเอง เนื่องจากยาลดความอ้วนทุกชนิด
แม้ว่าจะเป็นยาที่แนะนำให้ใช้เป็นยาขนานแรกก็ตาม ก็อาจส่งผลข้างเคียงหรือทำให้มีภาวะแทรกซ้อนจากการใช้งานได้มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน
ยาอื่นๆที่พบได้ในไทย
โดยเฉพาะยาที่ไม่ได้ระบุส่วนประกอบของยาที่ชัดเจน เช่น ยาที่ขายตาม Facebook หรือตามสื่อการขายออนไลน์ต่างๆ
มักมีส่วนประกอบที่อาจเป็นอันตรายถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมน
ยาขับปัสสาวะ ยาถ่ายหรือยาระบาย ยากดหรือกระตุ้นระบบประสาท เป็นต้น โดยการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงหรือข้อเสียของส่วนประกอบต่างๆของยาเหล่านี้
มีดังนี้
- ไทรอยด์ฮอร์โมน เพิ่มการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ทำให้ใจสั่น มือสั่น การทำงานของร่างกายผิดปกติเสมือนผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ
- ยาขับปัสสาวะ ลดน้ำหนักโดยทำให้ปริมาณของน้ำในร่างกายลดลงเท่านั้น
ไม่มีผลต่อไขมัน แต่อาจทำให้เกลือแร่ผิดปกติขั้นรุนแรงจนเสียชีวิตได้
- ยาถ่ายหรือยาระบาย ทำให้ถ่ายอุจจาระออกมามาก ทำให้สูญเสียน้ำและอาจทำให้เกลือแร่ผิดปกติได้เช่นเดียวกัน
- ยากดหรือกระตุ้นระบบประสาท เช่น phentermine ที่เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่
2 เนื่องจากทำให้ติดยาได้ ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ทำให้เบื่ออาหารจากการออกฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาท
นอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine; NE) และ โดปามีน (dopamine;
DA) ซึ่งผลข้างเคียงอาจทำให้ปากแห้ง ท้องผูก มือเท้าชา รบกวนการนอนหลับ
หรือเป็นโรคซึมเศร้าได้
หรือยา sibutramine
ที่ยับยั้งการเก็บกลับของสารสื่อประสาท ซีโรโทนิน (serotonin)
ที่ทำให้ระดับซีโรโทนินเพิ่มขึ้น จึงลดความอยากอาหารและทำให้อิ่มเร็ว
แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจอย่างมีนัยสำคัญ
รวมถึงการรบกวนระบบประสาทและทำให้มีอาการชักได้
ในกรณีที่ท่านจำเป็นต้องกินยาลดความอ้วนจริงๆ ควรเลือกใช้ orlistat หรือ lorcaserin
ก่อนยาชนิดอื่นๆ และควรสั่งโดยแพทย์ในสถานพยาบาลตามข้อบ่งชี้ที่ระบุไว้เท่านั้น
โดยข้อมูลของยาเหล่านี้เบื้องต้นมีดังนี้
-
Orlistat (Xenical) ในประเทศไทยมี orlistat ในรูปแบบแคปซูล
ขนาด 120 มิลลิกรัม ขนาดที่แนะนำคือ รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล
พร้อมอาหาร (30 นาทีก่อนกินอาหาร จนถึงภายใน 1 ชั่วโมงหลังกินอาหาร) โดยแนะนำให้กินพร้อมมื้ออาหารที่มีไขมันสูง
ไม่เกินวันละ 3 ครั้ง (รวมไม่เกิน 360
มิลลิกรัม)
นั่นคือถ้ามื้ออาหารนั้นๆมีปริมาณไขมันที่ไม่สูง ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาชนิดนี้
เนื่องจากกลไกการทำงานของยาชนิดนี้ คือ ยับยั้งเอนไซม์ gastric lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างจากกระเพาะอาหาร และยับยั้ง pancreatic
lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างจากตับอ่อน
ทำให้ไม่สามารถย่อยไขมันโมเลกุลใหญ่ให้กลายเป็นโมเลกุลเล็กได้ ร่างกายจึงไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้และจะขับถ่ายไขมันโมเลกุลใหญ่นี้ออกทางอุจจาระต่อไป
นำมาสู่ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาชนิดนี้ คือ มีน้ำมันปนออกมากับอุจจาระ
ถ่ายเป็นมันลอย ท้องเสียและอยากถ่ายอยากผายลมมากขึ้น
ซึ่งแม้ว่ายาชนิดนี้จะมีผลข้างเคียงที่ปลอดภัยกว่ายาตัวอื่นๆ แต่หลายคนก็อาจทนผลข้างเคียงนี้ไม่ได้และหยุดใช้ไป
ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้พบมากถึงร้อยละ 80
และระดับความรุนแรงก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยถ้าใช้ยาไป 1-2 สัปดาห์
อาการเหล่านี้อาจดีขึ้น
นอกจากนั้นภาวะแทรกซ้อนพบในงานวิจัย คือ
ภาวะขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามิน A, D, E, K) ในผู้ที่รับประทานยาชนิดนี้ทุกวันเป็นเวลา
3 เดือนขึ้นไป พบว่ามีระดับวิตามิน D และ
E ในกระแสเลือดลดลง จึงแนะนำให้รับประทานวิตามินเสริมร่วมด้วยในผู้ที่ใช้ยา
orlistat ติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน
โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินอยู่แล้ว
-
Lorcaserin (Belviq) ในประเทศไทยยังไม่มีการใช้ยาชนิดนี้
แต่มีการใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นยาขนาด 10 มิลลิกรัม
กินวันละ 2 ครั้ง ออกฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาท ซีโรโทนิน (serotonin) ทำให้ลดความอยากอาหารและทำให้อิ่มเร็ว มีผลข้างเคียง คือ ปวดศีรษะ
คลื่นไส้ มีอาการทางจิต สมาธิสั้นลง หรือมีอาการหลงๆลืมๆได้
โดยยาทั้งสองชนิดได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยแล้วว่า การใช้ยา
ร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
สามารถลดน้ำหนักได้ดีกว่าการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ทั้งนี้ อย่าลืมว่าการกินยาลดน้ำหนักอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ถ้าไม่มีการควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกายร่วมด้วย
สำหรับยาชนิดฉีดเพื่อลดน้ำหนัก
ในปัจจุบันมีเพียงยาที่อยู่ในกลุ่มยาเบาหวานชนิดเดียวเท่านั้นที่ US-FDA อนุมัติ
คือ liraglutide (Saxenda) โดยจะใช้ยาในระดับน้อยกว่าที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาล
และบริหารยาโดยการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งยาชนิดนี้มีราคาที่สูง ต้องสั่งยาภายใต้การควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น
และยาตัวนี้ไม่ใช่ยาที่แนะนำเป็นลำดับแรกของยาลดน้ำหนัก
ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้น
การใช้ยาลดน้ำหนักควรใช้ในผู้ที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น และสิ่งสำคัญที่สุด
คือการปรับพฤติกรรม การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย
ไม่สามารถพึ่งทางลัดเพียงแต่การใช้ยาลดน้ำหนักเท่านั้น
เพราะนอกจากจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรแล้ว ยังมีผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตดังที่เห็นในข่าวทางสื่อต่างๆในช่วงนี้อยู่เรื่อยๆ
อ้างอิง
1.
Bray
GA, et al. Obesity in adults: Drug therapy [Internet]. 2016 [cited 2016 Jul 1].
Available from: http://www.uptodate.com/contents/overview-of-vitamin-e?source=search_result&search=vitamin+e&selectedTitle=5~150
2.
Mayo
Clinic Staff. Common weight-loss drugs [Internet]. 2016 [cited 2016 Jul 1].
Available from:
http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/weight-loss/in-depth/weight-loss-drugs/art-20044832?pg=2
It would be interesting to join such an aggressive and real discussion with readers of this blog as well as readers of other blogs or websites who really thing that they can express more related to this topic.AS Detox
ReplyDelete