Muscle relaxant
overuse
การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อที่มากเกินความจำเป็น
นพ.นิธีร์ รัตน์ประสาทพร
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำแนะนำ
ยาคลายกล้ามเนื้อที่ใช้ในภาวะบาดเจ็บหรือโรคของกล้ามเนื้อ (antispasmodic) นั้น เป็นยาเสริมหรือยาลำดับรอง กรณีใช้ยาลำดับแรก เช่น paracetamol
หรือ NSAIDs ไม่ได้ผลเท่านั้น
โดยใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ และใช้ในภาวะอาการปวดแบบเฉียบพลันที่เกิดจากการหดตัวกล้ามเนื้อ
ไม่ใช่บริเวณข้อต่อของร่างกายระมัดระวังผลข้างเคียงต่างๆ โดยเฉพาะอาการง่วงซึม
มึนงง อ่อนเพลีย และตาพร่ามัว ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการขับรถ
และควรระมัดระวังถ้าใช้ยาชนิดอื่นๆอยู่
เนื่องจากยาคลายกล้ามเนื้อสามารถมีปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆได้หลายชนิด
รายละเอียด
เมื่อท่านมีอาการปวดกล้ามเนื้อ
ยาชนิดหนึ่งที่ท่านอาจจะเคยได้ยินหรือเคยใช้ คือ ยาคลายกล้ามเนื้อ
ซึ่งท่านอาจจะได้รับมาพร้อมกับกลุ่มยาแก้ปวดต่างๆชุดใหญ่ แท้จริงแล้วการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อซึ่งมีการใช้อย่างกว้างขวางในปัจจุบันนั้น
ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการใช้ที่ชัดเจน รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้ยาชนิดนี้
อาจไม่ทราบมาก่อนว่ายาชนิดนี้มีผลข้างเคียงอะไร
รวมทั้งอาจมีปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆใดๆได้บ้าง
ทำให้ท่านอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาชนิดนี้โดยไม่รู้ตัว
โดยที่ประสิทธิภาพในการรักษาอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย
ยาคลายกล้ามเนื้อ
คือ ยาที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อลาย ทำให้ความตึงของกล้ามเนื้อลดลง โดยยาคลายกล้ามเนื้อนั้น
แบ่งเป็น 2
ชนิดหลักๆ ได้แก่
1. ยาหย่อนกล้ามเนื้อ
(neuromuscular
blocking agents)
ออกฤทธิ์ที่รอยต่อระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อเป็นหลัก
โดยกีดขวางการทำงานของสารสื่อประสาท acetylcholine ต่อการจับกับตัวรับที่กล้ามเนื้อ
ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวไม่ได้ นิยมใช้ในการผ่าตัดที่ต้องนำสลบซึ่งไม่ต้องการให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ขณะผ่าตัด
2. ยาคลายกล้ามเนื้อหดเกร็ง
(spasmolytics) ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางเป็นหลัก
ใช้ลดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อและลดอาการปวด
ในที่นี้จะพูดถึงยากลุ่มที่
2 หรือ ยาคลายกล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasmolytics) เป็นหลัก
และจะพูดถึงยาคลายกล้ามเนื้อที่ใช้ในภาวะการบาดเจ็บหรือโรคของกล้ามเนื้อ (antispasmodic)
เป็นหลัก ไม่รวมถึงยาที่ใช้ลดความแข็งเกร็งหรือกระตุกของกล้ามเนื้อ (antispasticity)
จากโรคของไขสันหลัง และ/หรือโรคของสมอง (เช่น baclofen
และ tizanidine)
ตัวอย่างยาในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อที่ใช้ในภาวะบาดเจ็บหรือโรคของกล้ามเนื้อ
(antispasmodic)
ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย เช่นยา tolperisone (Mydocalm),
eperisone (Myonal) และ orphenadrine (Norflex) เป็นต้น รวมทั้งยากลุ่มนี้ อาจอยู่ในรูปของยาผสมกับยาชนิดอื่นๆ เช่น orphenadrine
+ paracetamol (Norgesic) ที่ท่านอาจจะคุ้นเคยกันดี
ยาคลายกล้ามเนื้อที่ใช้ในภาวะการบาดเจ็บหรือโรคของกล้ามเนื้อ
(antispasmodic)
ในปัจจุบัน เป็นยาที่นิยมสั่งสำหรับภาวะอาการปวดต่างๆ เช่น
ปวดหลังส่วนล่าง (low back pain) ปวดคอ (neck pain) ภาวะปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด (fibromyalgia) และกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด (myofascial pain
syndrome) โดยจากข้อมูลทั้งในประเทศไทยและในประเทศสหรัฐอเมริกา
พบว่ามีการใช้ยากลุ่มนี้อย่างแพร่หลาย ผู้ป่วยหลายรายได้รับยากลุ่มนี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ
ได้ยาชนิดนี้ร่วมกับยาอื่นๆอีกหลายชนิด รวมทั้งมีกรณีที่ได้รับยากลุ่มนี้เพื่อบรรเทาอาการข้อเสื่อมต่างๆ
ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อโดยตรงด้วย
เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสม
และข้อบ่งชี้ต่างๆของการสั่งยากลุ่มนี้ พบว่าส่วนใหญ่ยากลุ่มนี้ไม่ใช่ยาลำดับแรกสำหรับการรักษาภาวะต่างๆดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้เลย
เช่น อาการปวดหลังส่วนล่าง จากแนวทางเวชปฏิบัติของ American Pain Society และ American College of Physicians แนะนำให้ใช้ paracetamol
และยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นลำดับแรก
ก่อนการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ เนื่องจากประสิทธิภาพของยาคลายกล้ามเนื้อนั้นไม่ได้สูงกว่ายากลุ่มนี้
รวมทั้งยาคลายกล้ามเนื้อยังมีผลข้างเคียง และปฏิกิริยาระหว่างยาชนิดอื่นๆสูงกว่า
ดังจะกล่าวต่อไป
จากการพิจารณาการศึกษางานปริทัศน์แบบทั้งระบบ
(systematic
review) ที่เกี่ยวข้องกับยาคลายกล้ามเนื้อที่ใช้ในภาวะการบาดเจ็บหรือโรคของกล้ามเนื้อ
(antispasmodic) นั้น สามารถสรุปข้อบ่งใช้ และคำแนะนำในการใช้ยาในกลุ่มนี้
ได้ดังนี้
1. ใช้เป็นยาเสริมหรือยาลำดับรอง
กรณีใช้ยาลำดับแรก เช่น paracetamol
หรือ NSAIDs ไม่ได้ผล
2. ใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ
(short-term
relief) ถ้าดีขึ้นให้หยุดยา
3. ใช้ในภาวะอาการปวดแบบเฉียบพลัน
(acute
pain) เป็นหลัก ที่เกิดจากการหดตัวกล้ามเนื้อ
ไม่ใช่บริเวณข้อต่อของร่างกาย เช่น ข้อเสื่อม (osteoarthritis) ซึ่งอาการปวดไม่ได้เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อโดยตรง
4. ต้องมีการแนะนำถึงผลข้างเคียง
รวมทั้งตรวจสอบการใช้ยาชนิดอื่นๆที่อาจมีปฏิกิริยากับกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อได้ก่อนการใช้ยาเสมอ
5. ไม่ควรใช้ในสตรีมีครรภ์
ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีประวัติเคยใช้ยาเสพติด ยากดประสาทหรือเสพติดแอลกอฮอล์
เนื่องจากยากลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง
จึงต้องระวังผลข้างเคียงที่สำคัญที่พบได้ในยากลุ่มนี้ ได้แก่
1. ง่วงนอน
มึนงง และอ่อนเพลีย จากการกดระบบประสาทส่วนกลาง
เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ค่อนข้างบ่อย
ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งถ้าต้องขับรถหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิสูง
2. คลื่นไส้
หรืออาเจียน
3. ตาพร่ามัว
หรือปากแห้ง
4. อาจมีฤทธิ์เสพติดได้ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
5. ในบางรายที่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง
อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ กดการทำงานของไขกระดูก ชัก
หรือหมดสติได้
นอกจากนี้
ยาในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ อาจมีปฏิกิริยากับยากลุ่มอื่นๆได้ ดังตัวอย่างนี้
1. ยาที่กดการทำงานของระบบประสาท
เช่น ยานอนหลับ ยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก (เช่น chlorpheniramine) หรือแอลกอฮอล์ : เพิ่มการกดการทำงานของระบบประสาท ทำให้ง่วงซึมมากขึ้น รวมถึงอาจกดการหายใจได้ถ้าได้รับยาร่วมกันในขนาดสูง
2. ยาต้านจิตเภท
: อาจทำให้อาการของโรคจิตเภทต่างๆแย่ลง
หรือร่วมกันกดระบบประสาททำให้ง่วงซึมได้
3. ในกรณีได้รับยาผสม
เช่น norgesic
ซึ่งมีส่วนผสมของ paracetamol อยู่แล้ว
ถ้าผู้ป่วยไม่ทราบ และกิน paracetamol คู่กับ norgesic
อีก อาจทำให้ได้รับยา paracetamol เกินขนาดได้
ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้น
พบว่ายาคลายกล้ามเนื้อนั้น
เป็นยาที่เหมาะสำหรับนำมาใช้เป็นยาเสริมหรือยารองเท่านั้น
ไม่ควรนำมาใช้เป็นยาลำดับแรก เนื่องจากไม่ได้ประสิทธิภาพเหนือกว่ายาลำดับแรก
อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ
และมีปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นได้มากกว่ายาลำดับแรก
จึงควรจำกัดการใช้ยาในกลุ่มนี้ให้น้อยลง ปัญหาที่พบทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
คือยังคงมีการใช้ยาชนิดนี้อย่างกว้างขวางโดยที่ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน
มีการให้ยาชนิดนี้ต่อไปเรื่อยๆนานหลายเดือนหรือหลายปีโดยไม่หยุดยา
หรือมีการให้ยาชนิดนี้โดยไม่ติดตามผลข้างเคียงและไม่ได้ตรวจสอบปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆ
ซึ่งอาจก่อปัญหาหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์กับผู้ป่วยโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวได้
อ้างอิง
11. Frydrych V, et al. Skeletal Muscle Relaxants Drug Class Review
[Internet]. 2016 [cited 2017 Dec 25]. Available from: https://medicaid.utah.gov/pharmacy/ptcommittee/files/Criteria%20Review%20Documents/2016/2016.02%20Skeletal%20Muscle%20Relaxant%20Class%20Review.pdf
12. Witenko C, et al. Considerations for the Appropriate Use of
Skeletal Muscle Relaxants for the Management of Acute Low Back Pain [Internet].
2014 Jun [cited 2017 Dec 25]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4103716/pdf/ptj3906427.pdf
13. Chou R, Peterson K, Helfand M. Comparative efficacy and safety of
skeletal muscle relaxants for spasticity and musculoskeletal conditions: a
systematic review. J Pain Symptom Manage. 2004 Aug;28(2):140-75.
No comments:
Post a Comment