โรคติดต่อไม่เรื้อรังกับการซื้อยารับประทานเอง
ในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
(NCD, non-communicable disease) เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน
โรคไตเรื้อรัง ฯลฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก สำหรับในประเทศไทยโรคในกลุ่มดังกล่าวเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ
25 ของจำนวนการเสียชีวิตทั้งหมดในหนึ่งปี (WHO) ดังนั้นการรักษาและตรวจติดตามโรคในกลุ่มดังกล่าวจึงมีความจำเป็นและได้รับความสนใจมากทั้งจากภาครัฐ
บุคลากรสุขภาพและบุคคลทั่วไป ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคในกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบมากในปัจจุบัน คือ การขาดการติดตามการรักษา (follow
up) อย่างเหมาะสม โดยมีผู้ป่วยจำนวนมาก
ซื้อยาจากร้านขายเองรับประทานเอง หลังจากได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว
ทำให้แพทย์ไม่สามารถ ปรับยา ปรับเปลี่ยนการรักษา และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของโรคได้
นำมาซึ่งปัญหา การรักษาไม่ได้ตรงตามเป้าหมาย การได้รับผลข้างเคียงจากยา
รวมถึงเสียโอกาสที่จะได้รับยาใหม่ๆ
โรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้น
หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว จะต้องมีการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ยารักษาเบาหวานนั้น มีหลากหลายกลุ่ม หลากหลายประเภท
ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการเพิ่มหรือลดยาอย่างต่อเนื่อง
ตามระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
การที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพียงครั้งเดียวแล้วไปซื้อยารับประทานต่อเองตามร้านขายยา
จะนำมาซึ่งปัญหาน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป
ซึ่งอาจเป็นอันตรายอย่างมากต่อตัวผู่วยได้ นอกจากนี้
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องได้รับการตรวจผลกระทบของโรคต่ออวัยวะต่างๆ เช่น
ตรวจตาเพื่อหาความผิดปกติของเส้นเลือดขนาดเล็กในตา ตรวจไตเพื่อหาผลกระทบของโรค
รวมถึงเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยาบางชนิด ตรวจระบบประสาทเพื่อหาความผิดปกติของระบบรับความรู้สึกส่วนปลายจากโรคเบาหวาน
ซึ่งถ้าผู้ป่วยเลือกซื้อยารับประทานเอง และไม่มาตรวจติดตามกับแพทย์
จะพลาดโอกาสในการได้รับการเฝ้าระวังผลกระทบต่างๆดังกล่าวตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งรักษาได้ง่ายกว่าการกลับมาพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว
โรคความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตของแต่ละยุคคลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ความดันโลหิตของผู้ป่วยสามารถมีความแตกต่างกันอย่างมากได้ในแต่ละวัน
หรือแม้แต่ระหว่างวัน ดังนั้นแพทย์จะต้องมีการตรวจติดตามความดันของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
อาจถึงกับให้ผู้ป่วยวัดความดันโลหิตที่บ้านและจดค่าความดันที่วัดได้ระหว่างวันมาให้แพทย์ทำการปรับยา
ดังนั้นการที่ผู้ป่วยเลือกซื้อยารับประทานต่อเองจากร้านขายยา จะทำให้แพทย์ไม่สามารถปรับขนาดยาให้เข้ากับระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยได้
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการคิดค้นยาลดความดันโลหิตใหม่ๆ
รวมถึงแนวทางการรักษาใหม่ๆมากมาย
การซื้อยารับประทานเองก็จะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสได้รับยาใหม่ๆหรือแนวทางการรักษาใหม่ๆดังกล่าว
ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้ยาเดิมต่อไป
โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
ถือว่าเป็นโรคในกลุ่มที่อันตราย
ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ใกล้ชิดเนื่องการมีโอกาสเป็นซ้ำได้ ต้องได้รับการป้องกัน
(secondary prevention)
ที่เหมาะสม การที่ผู้ป่วยซื้อยารับประทานเองและไม่ได้พบแพทย์ตามนัดอาจทำให้เสี่ยงต่อการได้รับยาไม่ครบถ้วน
ได้รับยาเกินขนาด
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยจะขาดการประเมินอาการทางคลินิกจากแพทย์
ทำให้ขาดการดูแลรักษาผลข้างเคียงของโรค และขาดการป้องกันการเป็นซ้ำที่เหมาะสม
โรคไขมันในเลือดสูง
แม้ระดับไขมันในเลือดจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากนัก
แต่การใช้ยานั้นอาจมีผลข้างเคียงต่อตับได้
ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องตรวจติดตามค่าการทำงานของตับกับแพทย์หลังจากได้รับยาลดไขมันในเลือดแล้ว
รวมถึงจะต้องมีการติดตามระดับไขมันในเลือด เพื่อที่แพทย์จะได้เพิ่มหรือลดขนาดยา
เพื่อระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยอยู่ในระดับที่เหมาะสม
รวมถึงแพทย์สามารถให้คำแนะนำเรื่องการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามชนิดของไขมันที่แตกต่างกันจากผลการตรวจติดตามของผู้ป่วยได้
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
คือการตรวจติดตามการรักษากับแพทย์
ที่ไม่สามารถทดแทนได้โดยการซื้อยาเองจากร้านขายยา
เนื่องจากจะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสการได้รับการปรับยา ตรวจหาผลกระทบอื่นๆของโรค
ตรวจหาผลข้างเคียงของยา และการประเมินอาการทางคลินิกโดยแพทย์
ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ถือว่าจำเป็นอย่างมากต่อการรักษาโรคต่างๆดังกล่าว
อย่างไรก็ตามการเข้าถึงการรักษาโดยแพทย์อาจสร้างความลำบากให้ผู้ป่วย เช่น
ระยะเวลาการรอพบแพทย์ที่ยาวนาน ปริมาณผู้ป่วยในระบบสุขภาพของรัฐที่มีปริมาณมาก
รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่สูงในระบบเอกชน
ดังนั้นทางระบบสาธารณสุขจำเป็นต้องมีการปรับปรุง
เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพบแพทย์ได้สะดวกมากขึ้น
ลดปัญหาการขาดการติดตามและซื้อยารับประทานเองตามร้านขายยา
References
1.
Pharmacologic Approaches to Glycemic Treatment:
Standards of Medical Care in Diabetes—2019. Diabetes Care. 2018;42(Supplement
1):S90-S102.
2. Microvascular
Complications and Foot Care: Standards of Medical Care in Diabetes—2019.
Diabetes Care. 2018;42(Supplement 1):S124-S138.
3. Williams
B, Mancia G, Spiering W, Agabiti Rosei E, Azizi M, Burnier M et al. 2018
ESC/ESH Guidelines for the management of arterial hypertension. European Heart
Journal. 2018;39(33):3021-3104.
4. Powers
W, Rabinstein A, Ackerson T, Adeoye O, Bambakidis N, Becker K et al. 2018
Guidelines for the Early Management of Patients With Acute Ischemic Stroke: A
Guideline for Healthcare Professionals From the American Heart
Association/American Stroke Association. Stroke. 2018;49(3).
5. Ibanez
B, James S, Agewall S, Antunes M, Bucciarelli-Ducci C, Bueno H et al. 2017 ESC
Guidelines for the management of acute myocardial infarction in patients
presenting with ST-segment elevation. European Heart Journal.
2017;39(2):119-177.
No comments:
Post a Comment