การใช้ยาในโรคท้องร่วงเฉียบพลัน
ความรู้ทั่วไปสำหรับประชาชน
นพ. สุวิวัฒน์ บุนนาค
อ.นพ.นพดล วัชระชัยสุรพล
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โรคท้องร่วง (diarrhea) หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวจำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 3
ครั้งต่อวัน
หรือถ่ายอุจจาระลักษณะเป็นมูกหรือมูกเลือดหรือเป็นน้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่
16 สิงหาคม 2562 พบว่าโรคท้องร่วงเป็นโรคที่พบบ่อยในทุกกลุ่มอายุ
พบผู้ป่วยทั้งหมด 634,334 รายจากทั้งหมด 77 จังหวัด แต่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ในช่วงที่เก็บข้อมูลดังกล่าวข้างต้น
พบการเสียชีวิตเพียง 4 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.01 ต่อแสนประชากร
ผู้ป่วยโรคท้องร่วงอาจแบ่งได้เป็น
2
กลุ่มตามอาการเด่น ได้แก่ กลุ่มที่มีอาการอาเจียนเป็นอาการเด่น และ
กลุ่มที่มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นอาการเด่น
ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนเป็นอาการเด่น
มักเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิษ (toxin)
ที่ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหาร หรือการติดเชื้อไวรัสในทางเดินอาหาร
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระเหลวเป็นอาการเด่น
มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสในทางเดินอาหาร
บางครั้งเกิดจากอาการข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ
การรักษาโรคท้องร่วงประกอบด้วยการรักษาที่สำคัญ
3 ประการ ได้แก่
1.
การรักษาทดแทนภาวะขาดน้ำและการสูญเสียเกลือแร่
การรักษาทดแทนภาวะขาดน้ำและการสูญเสียเกลือแร่เป็นการรักษาที่จำเป็นสำหรับโรคท้องร่วงจากทุกสาเหตุ
การให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทนมี 2 วิธี ได้แก่
1) การให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทนทางปากด้วยผงเกลือแร่ (oral
rehydration solution, ORS) อาจเรียก ORS ว่าผงน้ำตาลเกลือแร่ก็ได้เนื่องจากมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหนึ่ง
และ 2) การให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทนทางหลอดเลือดดำ หากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไม่มากและยังพอรับประทานทางปากได้
ไม่มีอาการอาเจียนรุนแรง ควรได้รับ ORS ชงดื่ม การชง ORS
มักผสม 1 ซองกับน้ำดื่ม 1 แก้ว (250 ซีซี)
หรือตามที่ฉลากกำกับยาระบุไว้ โดยให้ดื่มประมาณ 1-1.5 เท่าของปริมาณอุจจาระที่ถ่าย โดยการดื่มทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง
หากมีการขาดน้ำและเกลือแร่ปานกลางหรือรุนแรง เช่น มีอาการคอแห้งมาก หน้ามืด ใจสั่น
หรืออาเจียนมากจนไม่สามารถรับประทานทางปากได้เพียงพอ ควรได้รับสารน้ำเกลือแร่ทดแทนทางหลอดเลือดดำ
การรักษาทดแทนภาวะขาดน้ำและการสูญเสียเกลือแร่เป็นการรักษาแบบประคับประคอง
จะพิจารณาให้จนกว่าอาการดีขึ้น เช่น การถ่ายอุจจาระกลับมาเป็นปกติ
ก็สามารถหยุดการรักษาได้
2.
การรักษาตามอาการ
การรักษาตามอาการสำหรับโรคท้องร่วง
ประกอบด้วยยาหลายกลุ่ม เช่น
2.1. ยาหยุดถ่าย
การรักษาด้วยยาหยุดถ่ายช่วยลดจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ
อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นแต่ไม่ใช่การรักษาที่สาเหตุ
อีกทั้งยังมีข้อห้ามใช้ในหลายกรณี เช่น ท้องร่วงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Shigella
spp., Clostridium difficile เนื่องจากจะทำให้อาการท้วงร่วงแย่ลงหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่รุนแรงได้
ยาหยุดถ่ายที่มีใช้ เช่น
· Loperamide
ออกฤทธิ์โดยการทำให้ทางเดินอาหารบีบตัวลดลง
ทำให้ลดจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ ไม่แนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
· Racecadotril ช่วยปรับสมดุลการหลั่งสารน้ำและเกลือแร่ในลำไส้ทำให้ลดจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ
สามารถกินยาจนกว่าอาการจะดีขึ้นแต่ไม่เกิน 7 วัน
กินยาซ้ำได้ทุก 8 ชั่วโมง สามารถใช้ได้ในเด็ก อาการข้างเคียงโดยเฉพาะเรื่องท้องผูกพบน้อยกว่ายา
loperamide
2.2. ยาช่วยดูดซับสารพิษ
· Activated
charcoal หรือผงถ่าน ออกฤทธิ์โดยการดูดซับสารพิษในทางเดินอาหาร อาการข้างเคียงน้อย
อาจพบอาการท้องผูก ในกรณีผู้ป่วยเด็กอาจละลายยา 1 เม็ดในน้ำสะอาด 30 ซีซี
ให้กินวันละ 2-4 ครั้ง ส่วนผู้ใหญ่ให้กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง
2.3. ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
เช่น ยา domperidone,
ondansetron
2.4. ยาแก้ปวดบิดในท้อง
เช่น hyoscine
2.5. ยากลุ่มอื่นๆ
เช่น ยาธาตุสังกะสี ช่วยลดความรุนแรงของอาการท้องร่วงในเด็กเล็ก
และป้องกันการเกิดท้องร่วงในครั้งถัดไป ยาจุลินทรีย์โปรไบโอติก (probiotic)
3.
การรักษาจำเพาะ
สำหรับโรคท้องร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อเสมอไป อาการมักดีขึ้นภายใน 7 วัน
แต่อาจพิจารณารักษาด้วยยาปฏิชีวนะสำหรับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยเด็กอายุน้อย
โดยเฉพาะน้อยกว่า 3 เดือน ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่โรคท้องร่วงเฉียบพลัน
อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสงสัยว่ามีเชื้อแบคทีเรียรุกล้ำเข้าผนังลำไส้
โดยอาจพิจารณาจาก 1) มีไข้ ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส 2) อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือด
อย่างไรก็ดี
เนื่องจากโรคท้องร่วงสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย E. coli ชนิดที่ผลิตสารพิษ STEC
ที่มักมีอาการท้องร่วงถ่ายเป็นเลือด เมื่อได้รับยาปฏิชีวนะอาจทำให้มีอาการข้างเคียงรุนแรง
เช่น เม็ดเลือดแดงแตก เกล็ดเลือดต่ำ หรือ ไตทำงานผิดปกติ ดังนั้น
จึงไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาดังกล่าว
การป้องกันโรคท้องร่วง
1.
ควรล้างมืออย่างถูกวิธี
(hand
hygiene) หลังจากการใช้ห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนและหลังจากการเตรียมอาหาร
ก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังจากสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้
2.
ผู้ป่วยโรคท้องร่วงควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ
หรือลงไปในแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
3.
พิจารณารับวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงโรต้าในเด็กทารก
References
1. Sharkey
KA, MacNaughton WK. Gastrointestinal Motility and Water
Flux, Emesis, and Biliary and Pancreatic Disease. In: Brunton LL. Chabner BA. Knollmann
BC, eds. Goodman & Gilman’s the
Pharmacological Basis of Therapeutics. 13th ed. New York: McGraw-Hill. 2018:921-44.
2. McQuaid
KR. Drugs Used in the Treatment of Gastrointestinal
Disease. In Katzung BG, eds. Basic
& Clinical Pharmacology. 13th ed. New York: McGraw-Hill. 2015:602-17.
3. Barr
W, Smith A. Acute Diarrhea in Adults. American Family Physician. 2014;89: 180-9.
4. Senderovich
H, Vierhout MJ. Is there a role for choarcoal in
palliative diarrhea management? Current Medical Research and Opinion. 2018; 34: 1253-9.
5. Shane
AL, Mody RK, Crump JA, Tarr PI, Steiner TS, Kotloff K, et al. 2017
Infectious Diseases Society of America Clinical Practice Guidelines for the
Diagnosis and Management of Infectious Diarrhea. Clinical
Infectious Diseases. 2017; 65: e45-e80.
6. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.
แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล. สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์. 2554. 11-14.
7. กรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่.
โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 2546.
8. สํานักระบาดวิทยา
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖: Diarrhoea [อินเทอร์เน็ต]. 2562. [เข้าถึงเมื่อ 20 สิงหาคม 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/506wk/y62/d02_3062.pdf.
No comments:
Post a Comment