Monday, March 15, 2021

ถั่งเช่า ยามหัศจรรย์จริงหรือ ?

 

นพ.สุวิวัฒน์ บุนนาค

ผศ.ดร.ปิยนุช วงศ์อนันต์

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ปัจจุบัน อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของถั่งเช่าเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ตามโฆษณาตามโทรทัศน์หรือแม้กระทั่งในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งยังสามารถหาซื้อได้ง่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ผู้ที่สั่งซื้ออาหารเสริมเหล่านี้ไปบริโภค มักมีจุดประสงค์เพื่อใช้รักษาโรคที่เป็นอยู่ หรืออาจใช้บำรุงร่างกายหากไม่มีโรคประจำตัว อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมก็เป็นอาหารชนิดหนึ่ง ผู้ที่ต้องการบริโภคถั่งเช่าจึงควรมีความรู้ความเข้าใจ ทราบถึงข้อดี ข้อเสีย สรรพคุณและข้อควรระวังต่าง ๆ เกี่ยวกับถั่งเช่าก่อนที่จะบริโภค

ถั่งเช่า (Cordyceps) หรือคนไทยเรียกว่า “หญ้าหนอน” มีหลากหลายชนิด แต่ที่นิยมบริโภคเป็นอาหารเสริมสุขภาพสจะมี 2 สายพันธุ์คือ ถั่งเช่าทิเบต (Ophiocordyceps sinensis) และถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) พบว่าตั้งแต่ปีค.ศ. 1964 มีเพียงถั่งเช่าสีทอง (Ophiocordyceps sinensis) เท่านั้นที่อยู่ตำรับยาของชาวจีน (Chinese pharmacopoeia)(1)

ถั่งเช่าทิเบต (Ophiocordyceps sinensis)

               Ophiocordyceps sinensis หรือชื่อเดิม Cordyceps sinensis เป็นเห็ดราที่ทำให้
ก่อโรคในหนอนผีเสื้อ โดยในฤดูร้อนหนอนผีเสื้อ Hepialus armoricanus จะกินสปอร์ของ
เห็ดราชนิดนี้ที่ตกอยู่ตามพื้นดินเข้าไป เมื่อถึงฤดูหนาวสปอร์ของเห็ดจะเริ่มเจริญเติบโต
โดยการดูดสารอาหารจากหนอนผีเสื้อที่อยู่ในภาวะจำศีลอยู่ใต้ดิน ทำให้หนอนผีเสื้อตาย
และราจะงอกส่วนดอกเห็ด (Fruiting body) ออกมาจากตัวหนอนที่ตายแล้ว เห็ดราชนิดนี้
เป็นเชื้อเฉพาะถิ่น (Endemic) อยู่ตามที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาสูงที่มีอากาศหนาวจัด
บริเวณประเทศจีน ภูฏาน เนปาล และอินเดีย โดยพบว่าความสูงที่ต่ำที่สุดที่สามารถพบได้
คือ 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล(2) มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละที่ เช่น 
ประเทศจีนจะเรียกว่า “Dōngchóngxiàcǎo (冬虫夏草)(3)” หรืออาจเรียกว่า “ตังถั่งแห่เช่า” 
หรือ “ตังถั่งเช่า” ซึ่งมีความหมายว่าฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า 
(summer grass, winter worm) ในทิเบตจะเรียก “YartsaGunbu” ในอินเดียจะเรียกว่า 
Keera Jhar” หรือ “Keera ghas(4) คนไทยมักเรียกว่า “หญ้าหนอน”

            ส่วนประกอบหลักของถั่งเช่าทิเบตจะมีอยู่ 2 ส่วนดังรูปภาพที่ 1 โดยพบว่าส่วนที่เป็นซากของตัวหนอนจะมีความยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตรและมักมีสีเหลือง ส่วนของเห็ดราที่ออกมามักมีขนาดยาวกว่าอยู่ที่ประมาณ 4-10 เซนติเมตรและมีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม(2)

           



รูปภาพที่ 1 รูปภาพของถั่งเช่าทิเบต (Ophiocordyceps sinensis) นำมาจาก (4)

           

สรรพคุณ

            คุณสมบัติทางยาที่มีปรากฏในการศึกษาหรือการทบทวนวรรณกรรมต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้

การชะลอวัย (Antiaging)

การศึกษาผลของสารที่ได้จากการสกัดถั่งเช่าทิเบตด้วยน้ำ ในหนูทดลอง พบว่าสารมีฤทธิ์ช่วยชะลอวัยได้ตามขนาดของสารสกัดที่ให้ โดยไปมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมองส่วน hippocampus ซึ่งมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้และความจำ ทำให้ปริมาณของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระ เช่น superoxide dismutase (SOD) และ catalase  เพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปลดการทำงานของเอนไซม์ monoamine oxidase B และลดการเกิด lipid peroxidation ซึ่งเป็นสารที่บ่งชี้เกี่ยวกับเรื่องความชราของเซลล์ (5)

การซ่อมแซม (Reparative properties)

            กระบวนการเคลื่อนที่ของเซลล์ (cell migration) การรุกรานของเซลล์ (cell invasion) และการเพิ่มจำนวนของเซลล์ (cell proliferation) มีบทบาทสำคัญต่อการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อหลังได้รับบาดเจ็บ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตสามารถกระตุ้นกระบวนการ migration และ invasion ให้เพิ่มขึ้น 69% และ 17% ตามลำดับ และมีผลเพิ่มกระบวนการ proliferation 3 เท่า การศึกษาผลของสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตต่อการทำงานของไตในหนูที่ได้รับสาร adriamycin เพื่อทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อไต พบว่าระดับโปรตีนในปัสสาวะของหนูกลุ่มทดลองที่น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  นอกจากนี้พบว่าค่าของ BUN และ creatinine ของหนูกลุ่มทดลองยังลดลงอีกด้วย(5)

 

ฤทธิ์การต้านมะเร็ง (Anti-cancer)

            การศึกษาในหนูทดลอง พบว่าสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเม็ดสีได้(4) นอกจากนี้พบว่าสาร sterol ที่สกัดได้จากถั่งเช่าทิเบตสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและกระตุ้นให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้(5)

การปรับภูมิคุ้มกัน (Immuno-modulation)

            สาร polysaccharide ที่สกัดได้จากถั่งเช่าทิเบตสามารถกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด monocyte ได้(5) และยังสามารถลดสารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้หลายชนิด เช่น IL-1, IL-6, IL-8, IL-10 และ TNF-α เป็นต้น(4)

การต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant)

            จากการศึกษาพบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตมีปริมาณของเอนไซม์ SOD เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีระดับ malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็นสารที่บ่งบอกถึงการเกิด lipid peroxidation ลดลง(5)

การกระตุ้นความต้องการทางเพศ (Aphrodisiac effect)

            การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตสามารถกระตุ้นการสร้างสาร steroid ในร่างกายได้ โดยหนูที่ได้รับสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตจะมีการทำงานทางเพศที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการสร้างสาร testosterone ที่มากขึ้น(6) โดยผู้วิจัยเชื่อว่าการสร้าง steroid มากขึ้นนี้เป็นผลมาจากสาร cordycepin แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด(7) สำหรับการศึกษาในมนุษย์พบว่าสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตสามารถเพิ่มจำนวนตัวอสุจิ และเพิ่มความต้องการทางเพศทั้งในเพศชายและหญิง(6)

ระบบประสาทและการทำงานของสมอง

            จากการศึกษาผลของสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตต่อการทำงานของสมองหลาย ๆ ด้าน เช่น ความจำ สมาธิ การพูด และการเคลื่อนไหว ในมนุษย์ โดยการแบ่งนักศึกษาที่มีอายุเฉลี่ย 26.3 ปี ทั้งหมด 96 คนเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารเสริมที่สกัดจากถั่งเช่าทิเบตและ Ganoderma lucidum ที่ความเข้มข้นสูง กลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารเสริมที่สกัดจากถั่งเช่าทิเบตและ Ganoderma lucidum ที่ความเข้มข้นต่ำ และกลุ่มที่ 3 ได้รับยาหลอก เป็นเวลา 30 วัน พบว่าผลการทดลองที่ได้ของทั้ง 3 กลุ่มไม่แตกต่างกัน โดยผู้วิจัยได้อธิบายว่าด้วยระยะเวลาการศึกษาที่สั้นและอายุของอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองไม่มากนัก อาจจะไม่ทำให้เห็นผลชัดเจน(8)

ระบบหัวใจและหลอดเลือด

            การศึกษาในหนูทดลองที่ได้รับอาหารไขมันสูง พบว่าการได้รับสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตขนาด 50, 100 และ 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวันเป็นเวลา 12 สัปดาห์สามารถลดการเกิด cholesteryl ester ได้ แสดงให้เห็นว่าสารสกัดสามารถลดการสะสมของไขมันโดยลดการเกิด LDL oxidation มากกว่าที่จะลดปริมาณไขมันในเลือด(9)

            นอกจากนี้พบว่าสาร polysaccharides จากถั่งเช่าทิเบตสามารถยับยั้งการกระตุ้นเกล็ดเลือดได้(10, 11) และสามารถลดความดันเลือดได้โดยการเพิ่มการหลั่ง nitric oxide (NO) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด และลดการหลั่ง epinephrine และ norepinephrine ซึ่งเป็นสารที่เพิ่มความดันเลือด(12)

            อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าผู้ป่วยชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกามีภาวะเลือดออกมากผิดปกติหลังจากถอนฟัน 13 ซี่  ทั้งที่ผลการตรวจเกล็ดเลือดเป็นปกติ แต่มีประวัติการกินถั่งเช่าวันละ 2 ครั้ง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากฤทธิ์ของถั่งเช่าในการต้านการแข็งตัวของเลือด(13)

เพิ่มพละกำลัง

            การศึกษาในหนูทดลอง โดยการนำส่วนของ Mycelium ของถั่งเช่าทิเบตซึ่งมีส่วนประกอบส่วนใหญ่ที่เป็นสารจำพวกคาร์โบไฮเดรตให้หนูกินแล้ววัดพละกำลังในการว่ายน้ำ พบว่าสามารถเพิ่มเวลาการว่ายน้ำของหนูได้เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม(4)

การศึกษาในนักกีฬาปั่นจักรยานเพศชายจำนวน 7 คน โดยการวิเคราะห์อัตราส่วนของ testosterone ต่อ cortisol หลังจากได้รับอาหารเสริมที่เป็นสารสกัดจาก Ganoderma lucidum และถั่งเช่าทิเบตขนาด 780 มิลลิกรัมต่อวันและ 2670 มิลลิกรัมตามลำดับเป็นเวลา 3 เดือน พบว่ามีอาสาสมัคร 2 คนที่มีอัตราส่วนของฮอร์โมนทั้งสองชนิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งสองคนเป็นนักกีฬาที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี ในขณะที่อาสาสมัครคนอื่นมีระดับฮอร์โมนทั้งสองชนิดเพิ่มขึ้นแต่อัตราส่วนไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามเนื่องจากจำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัยมีไม่มากนักและไม่ได้ทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก จึงอาจไม่สามารถสรุปผลได้อย่างชัดเจนนัก(14)

            การศึกษาผลของสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตในอาสาสมัครสุขภาพดีพบว่า การบริโภคสารสกัดขนาด 100-150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 5 วัน มีผลทำให้ระดับของ Hemoglobin เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่าฑิเบตรูปแบบผงสามารถเสริมการผลิตกรด lactic และควบคุมความดันเลือดในอาสาสมัครที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานที่มากเพียงพอที่จะบอกถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนี้ในนักกีฬาได้รับการฝึกมาอย่างดี หรือนักกีฬากลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อสาร steroid (15)

การทำงานของไต

            การศึกษาในหนูที่มีภาวะโรคไตแบบ IgAN (immunoglobulin-A nephropathy) ที่ได้รับสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตเป็นอาหารพบว่าสามารถลดการเกิดเลือดออกในปัสสาวะและลดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ(4)

จากการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) งานวิจัยเกี่ยวกับผลของการใช้ถั่งเช่าทิเบตในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (End stage renal disease หรือ ERSD)  ทจำนวนทั้งหมด 655 ราย จาก 12 การศึกษา พบว่าผลการศึกษาที่ได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากผลการศึกษาแต่ละงานวิจัยมีความแตกต่างกันมาก และผู้วิจัยมีอคติในการศึกษา รวมทั้งการศึกษาทั้งหมดที่รวบรวมมานั้นมาจากประเทศจีนทั้งหมด ซึ่งผลที่ได้อาจจะไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยในประเทศอื่นได้  ดังนั้น ณ ขณะนี้จึงยังไม่มีคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ถั่งเช่าทิเบตสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย(16)


ในการวิเคราะห์อภิมานงานวิจัยในผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตที่รับยากดภูมิคุ้มกันและได้รับถั่งเช่าทิเบต จำนวนทั้งหมด
477 รายจาก
5 การศึกษา ก็ยังมีผลที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากมีจำนวนการศึกษาที่จำกัดและจำนวนผู้ป่วยที่นำมาวิเคราะห์มีน้อย ประกอบกับระยะเวลาที่ใช้ในการติดตามการรักษาในแต่ละการศึกษาไม่มากพอ รวมทั้งการศึกษาทั้งหมดประเมินอคติของแต่ละการศึกษาได้ไม่ชัดเจน ทำให้ยังไม่สามารถสรุปผลได้ ยังต้องการการศึกษาที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษามากกว่านี้และระเบียบวิธีการทำงานวิจัยที่ดีกว่านี้(17)

การวิเคราะห์อภิมานงานวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมจากโรคเบาหวานที่ใช้ O. sinensis ร่วมกับการใช้ยาลดความดันกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACEIs) หรือ angiotensin II receptor blockers (ARBs) เทียบกับการใช้ ACEIs หรือ ARBs  เดี่ยว ๆ ซึ่งยา ACEI หรือ ARB เป็นยาลดความดันที่มีงานวิจัยรองรับชัดเจนว่าสามารถชะลอการเสื่อมของไตโดยลดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ (18) พบว่า โปรตีนในปัสสาวะที่เก็บตลอด 24 ชั่วโมง ค่า BUN, Creatinine ในเลือดของผู้ป่วยที่ได้รับ O. sinensis ร่วมกับ ACEIs หรือ ARBs ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่อย่างไรก็ตามการศึกษานี้รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งมีระเบียบวิธีการวิจัยที่ไม่ชัดเจน อีกทั้งงานวิจัยทั้งหมดเป็นของประเทศจีนซึ่งอาจทำให้เกิดอคติที่เรียกว่า publication bias และการศึกษาทั้งหมดที่รวบรวมมาเป็นการศึกษาระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาถึงผลของถั่งเช่าทิเบตในระยะยาวต่อไป(19)

ข้อควรระวัง

            การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรังของสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตในสัตว์ทดลอง โดยการให้สารทดสอบขนาด80 กรัมต่อกิโลกรัมในหนู เป็นเวลา 7 วัน และการให้สารทดสอบขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัมในกระต่ายเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามลำดับพบว่าการทำงานของตับและไตไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามมีรายงานถึงผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ถ่ายเหลว ปากแห้ง(5, 20) กินอาหารมากขึ้น น้ำหนักมากขึ้น นอกจากนี้พบว่าเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง มีจำนวนมากขึ้น(4)

            สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับถั่งเช่าทิเบตคือการปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปนเปื้อนตะกั่วเนื่องจากมีรายงานการใส่ตะกั่วเข้าไปในถั่งเช่าเพื่อเพิ่มน้ำหนัก และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต

            เนื่องจากสารสกัดจากถั่งเช่าทิเบตสามารถลดการกระตุ้นเกล็ดเลือดได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น aspirin (ASA) หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin รวมทถึงผู้ที่ใช้ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ NSAIDs) เช่น Ibuprofen, diclofenac, ponstan และ naproxen ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ไม่ควรรับประทานถังเช่าทิเบตเพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น(21)


ถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris)

            เป็นถั่งเช่าที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองรองจากถั่งเช่าทิเบต บางครั้งเรียกว่าเป็นตัวแทนของถั่งเช่าทิเบตเนื่องจากราคาที่ถูกกว่า มีสารเคมีที่คล้ายกัน และนำมาใช้ประโยชน์ได้คล้ายคลึงกัน(20, 22) พบว่า C. militaris จะเข้าไปอาศัยในตัวอ่อนหรือดักแด้ของผีเสื้อได้หลากหลายชนิด(23) เมื่อตัวอ่อนของผีเสื้อตาย ก็จะสร้างดอกเห็ดออกมาเป็นรูปร่างคล้ายกระบองและมีพื้นผิวเป็นเม็ดเล็ก ๆ มีความยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร (รูปภาพที่ 2) มักพบในประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น คาบสมุทรเกาหลี(22) สารที่สำคัญคือ cordycepin นอกจากนี้ยังมีสารอื่น ๆ เช่น sterol, polysaccharides(20) แม้ว่าจะพบถั่งเช่าสีทองตามธรรมชาติได้ยาก ถั่งเช่าสีทองก็สามารถเพาะในห้องปฏิบัติได้ง่ายกว่าถั่งเช่าทิเบต(22, 24) ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ถั่งเช่าสีทองเป็นส่วนประกอบของอาหารเอาไว้ว่า อาหารที่ใช้เลี้ยงจะต้องเป็นส่วนประกอบที่ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ได้ (Food grade) เท่านั้น พร้อมทั้งได้กำหนดคุณภาพมาตรฐาน และเงื่อนไขในการใช้ไว้อีกด้วย(25)



รูปภาพที่ 2 รูปภาพของ C. militaris และโครงสร้างของสาร cordycepin สารสำคัญที่พบใน C. Militaris (24)

 

สรรพคุณ

            จากการศึกษาที่ผ่านมาพบสรรพคุณทางยาของถั่งเช่าสีทองดังต่อไปนี้

การปรับภูมิคุ้มกัน (Immuno-modulation)

            การศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารในกลุ่ม polysaccharides ที่สกัดได้จาก C. Militaris (polysaccharides isolated from C. Militaris (PLCM) สามารถกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophage ได้(26) ทั้งนี้พบว่า  polysaccharides และ cordycepin มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน โดย polysaccharides สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดเซลล์มะเร็ง และเชื้อก่อโรคต่างๆ ในขณะที่ cordycepin มีผลป้องกันการอักเสบและกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่าง ๆ(27)

การศึกษาในมนุษย์ในอาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพดีทั้งหมด 79 คนที่ประเทศเกาหลี โดยวัดการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ หลังจากได้รับ capsule ยาที่มีสารสกัดจากถั่งเช่าสีทองเทียบกับยาหลอกทั้งหมด 4 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากถั่งเช่าสีทองมีระดับของสารที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันที่มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(28)

ฤทธิ์การต้านมะเร็ง (Anti-cancer)

            การศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสาร polysaccharide ที่ได้จาก C. Militaris (Cordyceps militaris polysaccharide-1, CMP-1) สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด (26) นอกจากนี้พบว่าสาร cordycepin สามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งมะเลือดขาวเกิดการตายแบบ apoptosisได้อีกด้วย (29)

ฤทธิ์อื่น ๆ

            การศึกษาในหนูที่เป็นโรคไตจากเบาหวานพบว่าหนูที่ได้รับ CmNo1 ซึ่งเป็นสารได้มาจาก C. militaris เป็นเวลา 8 สัปดาห์มีระดับน้ำตาล และค่า creatinine ในเลือดลดลง และยังลดการสะสมของสาร collagen ที่ไต(30)

 

สรุป

            แม้ว่าจะมีงานวิจัยจำนวนมากกที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของถั่งเช่า อย่างไรก็ตามการศึกษาส่วนใหญ่ยังเป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง วิธีการสกัดสารจากถั่งเช่าในหลายการศึกษาก็ไม่เหมือนกัน แม้ว่าการศึกษาที่ทำในมนุษย์จะมีผลลัพธ์ที่ชี้ไปในทางที่ดี แต่ระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาเหล่านั้นยังไม่ชัดเจน ผลการศึกษาที่ได้ในแต่ละการศึกษาก็มีความแตกต่างกัน และในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของการบริโภคถั่งเช่าติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงการปนเปื้อนของสารตะกั่วในถั่งเช่า(31) อีกทั้งการบริโภคถั่งเช่ามีข้อควรระวังโดนเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด ไม่ควรรับประทานถั่งเช่าเนื่องจากถั่งเช่าอาจทำให้ ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเลือดออกง่ายขึ้นตามที่ต่าง ๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง เป็นต้น

 


References

1.          Lin B LS. Cordyceps as an Herbal Drug. 2011. In: Herbal Medicine: Biomolecular and Clinical Aspects [Internet]. CRC Press: Taylor & Francis. 2. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK92758/.

2.          Shrestha B, Zhang W, Zhang Y, Liu X. What is the Chinese caterpillar fungus Ophiocordyceps sinensis (Ophiocordycipitaceae)? Mycology. 2010;1(4):228-36.

3.          Li Y, Wang X-L, Jiao L, Jiang Y, Li H, Jiang S-P, et al. A survey of the geographic distribution of Ophiocordyceps sinensis. The Journal of Microbiology. 2011;49(6):913-9.

4.          Belwal T, Bhatt ID, Kashyap D, Sak K, Tuli HS, Pathak R, et al. Chapter 5.4 - Ophiocordyceps sinensis. In: Nabavi SM, Silva AS, editors. Nonvitamin and Nonmineral Nutritional Supplements: Academic Press; 2019. p. 527-37.

5.          Chen PX, Wang S, Nie S, Marcone M. Properties of Cordyceps Sinensis: A review. Journal of Functional Foods. 2013;5(2):550-69.

6.          Jiraungkoorskul K, Jiraungkoorskul W. Review of Naturopathy of Medical Mushroom, Ophiocordyceps Sinensis, in Sexual Dysfunction. Pharmacogn Rev. 2016;10(19):1-5.

7.          Chen Y-C, Chen Y-H, Pan B-S, Chang M-M, Huang B-M. Functional study of Cordyceps sinensis and cordycepin in male reproduction: A review. Journal of Food and Drug Analysis. 2017;25(1):197-205.

8.          Tsuk S, Lev YH, Rotstein A, Carasso R, Zeev A, Netz Y, et al. Clinical Effects of a Commercial Supplement of Ophiocordyceps sinensis and Ganoderma lucidum on Cognitive Function of Healthy Young Volunteers. 2017;19(8):667-73.

9.          Yamaguchi Y, Kagota S, Nakamura K, Shinozuka K, Kunitomo M. Inhibitory effects of water extracts from fruiting bodies of cultured Cordyceps sinensis on raised serum lipid peroxide levels and aortic cholesterol deposition in atherosclerotic mice. Phytother Res. 2000;14(8):650-2.

10.        Xu J, Huang Y, Chen XX, Zheng SC, Chen P, Mo MH. The Mechanisms of Pharmacological Activities of Ophiocordyceps sinensis Fungi. Phytother Res. 2016;30(10):1572-83.

11.        Li HP, Hu Z, Yuan JL, Fan HD, Chen W, Wang SJ, et al. A novel extracellular protease with fibrinolytic activity from the culture supernatant of Cordyceps sinensis: purification and characterization. Phytother Res. 2007;21(12):1234-41.

12.        Xiang F, Lin L, Hu M, Qi X. Therapeutic efficacy of a polysaccharide isolated from Cordyceps sinensis on hypertensive rats. International Journal of Biological Macromolecules. 2016;82:308-14.

13.        Hatton MN, Desai K, Le D, Vu A. Excessive postextraction bleeding associated with Cordyceps sinensis: a case report and review of select traditional medicines used by Vietnamese people living in the United States. Oral Surg Oral Med Oral Pathol Oral Radiol. 2018;126(6):494-500.

14.        Rossi P, Buonocore D, Altobelli E, Brandalise F, Cesaroni V, Iozzi D, et al. Improving Training Condition Assessment in Endurance Cyclists: Effects of Ganoderma lucidum and Ophiocordyceps sinensis Dietary Supplementation. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine. 2014;2014:979613.

15.        Sellami M, Slimeni O, Pokrywka A, Kuvačić G, D Hayes L, Milic M, et al. Herbal medicine for sports: a review. Journal of the International Society of Sports Nutrition. 2018;15(1):14.

16.        Bee Yean O, Zoriah A. Efficacy of Cordyceps sinensis as an adjunctive treatment in hemodialysis patients: a systematic review and Meta-analysis. J Tradit Chin Med. 2019;39(1):1-14.

17.        Hong T, Zhang M, Fan J. Cordyceps sinensis (a traditional Chinese medicine) for kidney transplant recipients. Cochrane Database Syst Rev. 2015(10):Cd009698.

18.        KDOQI Clinical Practice Guidelines and Clinical Practice Recommendations for Diabetes and Chronic Kidney Disease. Am J Kidney Dis. 2007;49(2 Suppl 2):S12-154.

19.        Luo Y, Yang S-k, Zhou X, Wang M, Tang D, Liu F-y, et al. Use of Ophiocordyceps sinensis (syn. Cordyceps sinensis) combined with angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACEI)/angiotensin receptor blockers (ARB) versus ACEI/ARB alone in the treatment of diabetic kidney disease: a meta-analysis. Renal Failure. 2015;37(4):614-34.

20.        Olatunji OJ, Tang J, Tola A, Auberon F, Oluwaniyi O, Ouyang Z. The genus Cordyceps: An extensive review of its traditional uses, phytochemistry and pharmacology. Fitoterapia. 2018;129:293-316.

21.        Ulbricht C, Chao W, Costa D, Rusie-Seamon E, Weissner W, Woods J. Clinical evidence of herb-drug interactions: a systematic review by the natural standard research collaboration. Curr Drug Metab. 2008;9(10):1063-120.

22.        Cui JD. Biotechnological production and applications of Cordyceps militaris, a valued traditional Chinese medicine. Critical Reviews in Biotechnology. 2015;35(4):475-84.

23.        Shrestha B, Zhang W, Zhang Y, Liu X. The medicinal fungus Cordyceps militaris: research and development. Mycological Progress. 2012;11(3):599-614.

24.        Das SK, Masuda M, Sakurai A, Sakakibara M. Medicinal uses of the mushroom Cordyceps militaris: Current state and prospects. Fitoterapia. 2010;81(8):961-8.

25.        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. แนวทางการพิจารณาอนุญาตถั่งเช่าสีทอง (C. militaris) เป็นส่วนประกอบในอาหาร 2559 [updated 20 มีนาคม 2562. Available from: https://www.fda.moph.go.th/sites/food/Permission/GoldenBucket.pdf.

26.        Zhang J, Wen C, Duan Y, Zhang H, Ma H. Advance in Cordyceps militaris (Linn) Link polysaccharides: Isolation, structure, and bioactivities: A review. International Journal of Biological Macromolecules. 2019;132:906-14.

27.        Lee C-T, Huang K-S, Shaw J-F, Chen J-R, Kuo W-S, Shen G, et al. Trends in the Immunomodulatory Effects of Cordyceps militaris: Total Extracts, Polysaccharides and Cordycepin. Frontiers in Pharmacology. 2020;11(1824).

28.        Kang HJ BH, Kim SJ, Lee SG, Ahn HY, Park JS, et al. Cordyceps militaris Enhances Cell-Mediated Immunity in Healthy Korean Men. Journal of Medicinal Food. 2015;18(10):1164-72.

29.        Chou S-M, Lai W-J, Hong T-W, Lai J-Y, Tsai S-H, Chen Y-H, et al. Synergistic property of cordycepin in cultivated Cordyceps militaris-mediated apoptosis in human leukemia cells. Phytomedicine. 2014;21(12):1516-24.

30.        Yu S-H, Dubey NK, Li W-S, Liu M-C, Chiang H-S, Leu S-J, et al. Cordyceps militaris Treatment Preserves Renal Function in Type 2 Diabetic Nephropathy Mice. PLOS ONE. 2016;11(11):e0166342.

31.        Brigham A, Bryan J, Ceurvels J, Conquer J, Costa D, Culwell S, et al. Cordyceps ( Cordyceps spp.): An Evidence-Based Systematic Review by the Natural Standard Research Collaboration. Alternative and Complementary Therapies. 2013;19:326-36.

 

No comments:

Post a Comment